หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

"สิงโตบิน" การแข่งขันเชิดสิงโตกระโดดเสาดอกเหมยในระดับนานาชาติ

   
                                       "ลีลาสิงโตบิน"

     การแข่งขันเชิดสิงโตกระโดดเสาดอกเหมยระดับนานาชาติ  
                       
                 เห็นทีมสิงโตทีมนี้แล้วอดไม่ได้ที่จะไม่เอามาให้เพื่อนได้ชมด้วย  ดูลีลาแล้วขอบอกเลยว่า  นี่แหละลีลา  "สิงโตบิน"  แต่หากใครไม่ชอบลีลาเชิด  ขอแนะนำว่า  ทีมเล่นมโหรีชุดนี้  แค่เห็นสาวน้อยที่ตีเง๊ง  แล้วไม่อยากเชื่อเลยว่า  สวยๆ อย่างนี้  ทำไมไม่ไปประกวดนางงาม  แต่อย่างว่านะ  ใจมันรักเลือดนักสิงโตเข้าเส้น

     

วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประวัติความเป็นมาของเทพเจ้ากวนอู


ประวัติความเป็นมาของเทพเจ้ากวนอู

      เนื่องจากในวันที่  ๓๑  กรกฎาคม  ๒๕๕๖  นี้  ปฎิทินทางจันทรคติของชาวจีน  เชื่อว่า  ตรงกับวันประสูติ  ของเทพเจ้ากวนอู  ซึ่งถือว่า  เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์  ดังนี้

กวนอู (อังกฤษ: Guan Yu;จีนตัวเต็ม: 關羽; จีนตัวย่อ: 关羽; พินอิน: Guān Yǔ; เวด-ไจลส์: Kuan Yu) เป็นตัวละครในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก เกิดเมื่อวันที่ 24 เดือน 6 จีนศักราชเอี่ยงฮี ปี พ.ศ. 703 ในรัชสมัยของพระเจ้าฮั้นฮวนเต้ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 เดือนที่ 7 จีนศักราชเคี่ยงเซ้ง ปี พ.ศ. 762 ในรัชสมัยของพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้[1] [2] มีชื่อรองว่า "หุนเตี๋ยง" (จีน: 云长) เป็นชาวอำเภอไก่เหลียง ลักษณะตามคำบรรยายในวรรณกรรมสามก๊ก กวนอูเป็นผู้มีรูปร่างสูงใหญ่ 9 ฟุตจีนหรือประมาณ 6 ศอก ใบหน้าแดงเหมือนผลพุทราสุก นัยน์ตายาวรี คิ้วดั่งหนอนไหม หนวดเครางามถึงอก[3] มีง้าวรูปจันทร์เสี้ยว ยาว 11 ศอก หนัก 82 ชั่ง เป็นอาวุธประจำกายเรียกว่า "ง้าวมังกรเขียว" หรือ "ง้าวมังกรจันทร์ฉงาย" ในจินตนาการของศิลปินมักวาดภาพหรือปั้นภาพให้กวนอูแต่งกายด้วยชุดสีเขียวและมีผ้าโพกศีรษะ กวนอูมีความเชี่ยวชาญและเก่งกาจวิทยายุทธ จงรักภักดี กตัญญูรู้คุณ มีคุณธรรมและซื่อสัตย์เป็นเลิศ


ในวัยหนุ่มฉกรรจ์กวนอูได้พลั้งมือฆ่าปลัดอำเภอและน้าชายตายจนต้องหลบหนีการจับกุม และพบกับเล่าปี่และเตียวหุยจนร่วมสาบานตนเป็นพี่น้องกันในสวนท้อร่วมทำศึกกับเล่าปี่มาโดยตลอดเป็นหนึ่งในห้าทหารเสือของเล่าปี่ ครองเกงจิ๋วร่วมกับ  กวนเป๋งบุตรบุญธรรมและจิวฉอง ภายหลังถูกแผนกลยุทธ์ปิดฟ้าข้ามทะเลของลกซุนและลิบองจนเสียเมืองเกงจิ๋ว กวนอูคับแค้นใจที่พลาดท่าเสียทีลกซุนและลิบองจึงนำทัพไปตีเกงจิ๋วเพื่อแย่งชิงคืน แต่ถูกจูเหียนและพัวเจี้ยงจับได้พร้อมกวนเป๋งที่เขาเจาสันและถูกประหารในปี พ.ศ.762 รวมอายุได้ 59 ปี
กวนอูเดิมเป็นชาวอำเภอไก่เหลียงมีชื่อเต็มว่าอำเภอฮอตั๋งไกเหลียง ดินแดนฮอตั๋งชื่อเดิมคือเผิงเสียน ชื่อ  รองโซ่วฉาง หรือ หยุนฉาง(แปลว่า เมฆยาว ในสำเนียงแต้จิ๋วออกเสียงว่า หุนเตี๋ยง) รูปร่างสูงใหญ่ สง่างามน่าเกรงขามแก่ผู้พบเห็น มีกำเนิดในครอบครัวนักปราชญ์  เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์พิชัยสงครามและคัมภีร์หลี่ซื่อชุนชิว   เป็นนักโทษต้องคดีอาญาแผ่นดิน หลบหนีการจับกุมเร่รอนไปทั่วประเทศจีนเป็นเวลานานถึง 6 ปี  จนกระทั่งถึงด่านถงกวน นายด่านพบพิรุธจึงสอบถามชื่อแซ่ กวนอูตกใจจึงชี้ไปที่ชื่อด่านคือ "ถงกวน" (ในภาษาจีนกลาง คำว่า "กวน" แปลว่า ด่าน) ทำให้นายด่านเข้าใจว่ากวนอูนั้นแซ่กวน หลังจากนั้นเป็นต้นมากวนอูจึงเปลี่ยนจากชื่อเดิมคือเผิงเสียนเป็นกวนอู

ต่อมาได้พบเล่าปี่และเตียวหุยที่ตุ้นก้วนและร่วมสาบานเป็นพี่น้องกัน กวนอูได้ร่วมรบกับเล่าปี่ปราบโจรโพกผ้าเหลืองจนราบคาบในสมัยพระเจ้าเลนเต้ แต่เล่าปี่กลับได้เพียงตำแหน่งนายอำเภออันห้อก้วน ภายหลังต๊กอิ้วซึ่งเป็นเจ้าเมืองออกตรวจราชการที่อำเภออันห้อก้วน เล่าปี่ไม่มีสินบนมอบให้จึงถูกใส่ความด้วยการเขียนฎีกาถวายพระเจ้าเลนเต้ในข้อหากบฏ เตียวหุยโกรธจัดถึงกับพลั้งมือเฆี่ยนตีต๊กอิ้วจนเกือบเสียชีวิต ทำให้เล่าปี่ต้องหลบหนีจากการจับกุมของทางการพร้อมกับกวนอูและเตียวหุย         วีรกรรมของกวนอูนั้นมีมากมาย เริ่มจากการร่วมปราบปรามโจรโพกผ้าเหลืองร่วมกับทหารหลวงของพระเจ้าเลนเต้ สังหารฮัวหยงแม่ทัพของตั๋งโต๊ะโดยที่สุราคาราวะจากโจโฉยังอุ่น ๆ ปราบงันเหลียงและบุนทิวสองทหารเอกของอ้วนเสี้ยว บุกเดี่ยวพันลี้หนีจากโจโฉเพื่อหวนกลับคืนสู่เล่าปี่ด้วยคำสัตย์สาบานในสวนท้อ ทั้งที่โจโฉพยายามทุกวิถีทางเพื่อมัดใจกวนอูแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ฝ่า 5 ด่าน สังหาร 6 ขุนพลของโจโฉ และในคราวศึกเซ็กเพ็กโจโฉแตกทัพหนีไปตามเส้นทางฮัวหยง กวนอูได้รับมอบหมายจากขงเบ้งให้นำกำลังทหารมาดักรอจับกุม โจโฉว่ากล่าวตักเตือนให้กวนอูระลึกถึงบุญคุณครั้งก่อนจนกวนอูใจอ่อนยอมปล่อยโจโฉหลุดรอดไป โดยยอมรับโทษประหารตามที่ได้ทำทัณฑ์บนไว้กับขงเบ้ง       เมื่อเล่าปี่สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิครองเสฉวน ได้ให้กวนอูไปกินตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองเกงจิ๋วและแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในห้าทหารเสือของเล่าปี่ ภายหลังซุนกวนมอบหมายให้โลซกเจรจาขอเกงจิ๋วคืน กวนอูบุกเดี่ยวข้ามฟากไปกังตั๋งเพื่อกินโต๊ะตามคำเชิญโดยที่โลซกและทหารที่แอบซุ่มรอบ ๆ บริเวณไม่สามารถทำอันตรายได้ ภายหลังซุนกวนเป็นพันธมิตรกับโจโฉนำทัพโจมตีเกงจิ๋ว กวนอูพลาดท่าเสียทีแก่ลิบองและลกซุนสองแม่ทัพแห่งกังตั๋งจนเสียเกงจิ๋ว พยายามตีฝ่ากำลังทหารที่ล้อมเมืองเป๊กเสียเพื่อชิงเกงจิ๋วกลับคืนแต่โดนกลอุบายจับตัวไปได้ ซุนกวนพยายามเกลี้ยกล่อมให้กวนอูยอมจำนนและสวามิภักดิ์แต่ไม่สำเร็จ จึงถูกประหารพร้อมกับกวนเป๋งบุตรบุญธรรมในเดือนสิบสองของปี พ.ศ. 762    ศีรษะของท่านกวนอูถูกซุนกวนส่งไปมอบให้แก่โจโฉที่ฮูโต๋ ซึ่งเป็นกลอุบายที่หมายจะหลอกให้เล่าปี่หลงเชื่อว่าโจโฉเป็นผู้สั่งประหารกวนอู และนำกำลังทหารไปทำศึกสงครามกับโจโฉแทน แต่โจโฉเท่าทันกลอุบายของซุนกวนจึงจัดงานศพให้แก่กวนอูอย่างสมเกียรติ นำไม้หอมมาต่อเป็นหีบใส่ศีรษะกวนอู แต่งเครื่องเซ่นไหว้ตามบรรดาศักดิ์ขุนนางผู้ใหญ่รวมทั้งสั่งการให้ทหารทั้งหมดแต่งกายขาวไว้ทุกข์ให้แก่กวนอู ยกย่องให้เป็นอ๋องแห่งเกงจิ๋วและจารึกอักษรที่หลุมฝังศพว่า "ที่ฝังศพเจ้าเมืองเกงจิ๋ว" ศีรษะของกวนอูถูกฝังไว้ ณ ประตูเมืองลกเอี๋ยงหรือลัวหยางทางด้านทิศใต้

บุคลิกลักษณะนิสัย

จากวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้บรรยายลักษณะนิสัยของกวนอูว่าเป็นผู้ที่มีนิสัยห้าวหาญ กิริยาท่าทางองอาจน่าเกรงขามแก่ผู้พบเห็น กตัญญูรู้คุณคนและซื่อสัตย์เป็นเลิศ นิสัยรักความยุติธรรม มีคุณธรรมไม่รังแกผู้อ่อนแอกว่าและผู้ไร้ทางสู้ ถือสัตย์ไม่ชอบการกดขี่ข่มเหง หยิ่งทรนงในศักดิ์ศรีและเชื่อมั่นในตนเอง ฝีมือเชิงยุทธ์เก่งกาจเนื่องจากชำนาญตำราพิชัยสงครามและคัมภีร์ชุนชิวแต่เด็ก ความองอาจกล้าหาญไม่กลัวตายบวกกับฝีมือในเชิงยุทธ์ของกวนอู ความซื่อสัตย์จงรักภักดีสละแล้วซึ่งชีวิตต่อเล่าปี่รวมทั้งลักษณะที่สมเป็นชายชาติทหาร ทำให้โจโฉและซุนกวนต้องการตัวกวนอูเป็นอย่างมาก  ซึ่งพอจะแบ่งคุณล้กษณะนิสัยของเทพเจ้ากวนอูได้ดังนี้

   ๑. ความสัตย์ซื่อ

เมื่อคราวที่เล่าปี่ทำศึกแพ้โจโฉที่เมืองชีจิ๋วแตกแยกพลัดพรากจากกวนอูและเตียวหุย เล่าปี่หนีไปอยู่กับอ้วนเสี้ยว เตียวหุยแตกไปแย่งชิงเมืองเล็ก ๆ และตั้งซุ่มเป็นกองโจร กวนอูถูกโจโฉวางกลอุบายล้อมจับตัวได้ที่เมืองแห้ฝือ และมอบหมายให้เตียวเลี้ยวมาเจรจาเกลี้ยกล่อม กวนอูขอสัญญาสามข้อจากโจโฉคือ "เราจะขอเป็นข้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ประการหนึ่ง เราจะขอปฏิบัติพี่สะใภ้ทั้งสอง แลอย่าให้ผู้ใดเข้าออกกล้ำกรายเข้าถึงประตูที่อยู่ได้ จะขอเอาเบี้ยหวัดของเล่าปี่ซึ่งเคยได้รับพระราชทานนั้น มาให้แก่พี่สะใภ้เราทั้งสองประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งถ้าเรารู้ว่าเล่าปี่อยู่แห่งใดตำบลใด ถึงมาตรว่าเรามิได้ลามหาอุปราชเราก็จะไปหาเล่าปี่ แม้มหาอุปราชจะห้ามเราก็ไม่ฟัง  โจโฉตกลงตามสัญญาสามข้อจึงได้กวนอูไว้ตามต้องการ      โจโฉนำกวนอูไปถวายตัวต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้ พยายามเลี้ยงดูกวนอูอย่างดีเพื่อให้ลืมคุณของเล่าปี่แต่หนหลัง ให้เครื่องเงินเครื่องทองแลแพรอย่างดีแก่แก่กวนอูเพื่อหวังเอาชนะใจ สามวันแต่งโต๊ะไปให้ครั้งหนึ่ง ห้าวันครั้งหนึ่ง จัดหญิงสาวรูปงามสิบคนให้ไปปฏิบัติหวังผูกน้ำใจกวนอูให้หลง แต่กวนอูกลับไม่สนใจต่อทรัพย์สินและหญิงงามที่โจโฉมอบให้ ใจมุ่งหวังแต่เพียงคิดหาทางกลับคืนไปหาเล่าปี่ โจโฉเห็นเสื้อผ้ากวนอูเก่าและขาดจึงมอบเสื้อใหม่ให้ กวนอูจึงนำเสื้อเก่าสวมทับเสื้อใหม่ด้วยเหตุผลที่ว่า "เสื้อเก่านี้ของเล่าปี่ให้ บัดนี้เล่าปี่จะไปอยู่ที่ใดมิได้แจ้ง ข้าพเจ้าจึงเอาเสื้อผืนนี้ใส่ชั้นนอก หวังจะดูต่างหน้าเล่าปี่ ครั้นจะเอาเสื้อใหม่นั้นใส่ชั้นนอก คนทั้งปวงจะครหานินทาว่าได้ใหม่แล้วลืมเก่า"
โจโฉเห็นม้าที่กวนอูขี่ผ่ายผอมเพราะทานน้ำหนักกวนอูไม่ไหวจึงมอบม้าเซ็กเธาว์ของลิโป้ให้ สร้างความดีใจให้กวนอูเป็นอย่างยิ่งจนถึงกับคุกเข่าคำนับโจโฉหลายครั้งจนโจโฉสงสัยถามว่า "เราให้ทองสิ่งของแก่ท่านมาเป็นอันมากก็ไม่ยินดี ท่านไม่ว่าชอบใจและมีความยินดีเหมือนเราให้ม้าตัวนี้ เหตุไฉนท่านจึงรักม้าอันเป็นสัตว์เดียรัจฉานมากกว่าทรัพย์สินอีกเล่า" กวนอูจึงตอบด้วยเหตุผลว่า "ข้าพเจ้าแจ้งว่าม้าเซ็กเธาว์ตัวนี้มีกำลังมาก เดินทางได้วันละหมื่นเส้น แม้ข้าพเจ้ารู้ข่าวว่าเล่าปี่อยู่ที่ใด ถึงมาตรว่าไกลก็จะไปหาได้โดยเร็ว เหตุฉะนี้ข้าพเจ้าจึงมีความยินดี ขอบคุณมหาอุปราชมากกว่าให้สิ่งของทั้งปวง"  

๒.  ยึดมั่นในคุณธรรม

ภายหลังจากเตียวเลี้ยวเจรจาเกลี้ยกล่อมกวนอูได้สำเร็จ โจโฉสั่งทหารเปิดทางให้กวนอูเข้าเมืองและจัดให้อยู่ร่วมเรือนเดียวกับพี่สะใภ้ทั้งสองคือนางกำฮูหยินและนางบิฮูหยิน หวังให้กวนอูคิดทำร้ายจะได้แตกน้ำใจจากเล่าปี่ โจโฉจะได้ครอบครองกวนอูไว้เป็นสิทธ์แก่ตัว แต่กวนอูให้พี่สะใภ้ทั้งสองนอนห้องด้านในและนั่งจุดเทียนดูหนังสือรักษาพี่สะใภ้อยู่นอกประตู เป็นการทรมานตนเองจนรุ่งเช้าในระหว่างเดินทางกลับฮูโต๋ เมื่อโจโฉรู้ดังนั้นก็เกรงใจกวนอูด้วยว่า "มีความสัตย์และกตัญญูต่อเล่าปี่"

   ๓. ความกตัญญูรู้คุณ
ในคราวศึกที่ตำบลแปะแบ๊ อ้วนเสี้ยวนำทัพหมายบุกโจมตียึดครองฮูโต๋ โจโฉจัดทหารสิบห้าหมื่นแยกออกเป็นสามกองเข้ารับมือกับอ้วนเสี้ยว ในการทำศึกโจโฉสูญเสียซงเหียน งุยซกและไพร่พลจำนวนมาก ซิหลงเสนอให้เรียกกวนอูออกรบ โจโฉกลัวกวนอูออกรบแล้วจะเป็นการแทนคุณตนเองและจากไปแต่ซิหลงแย้งว่า "ข้าพเจ้าเห็นว่าเล่าปี่ไปอาศัยอ้วนเสี้ยวอยู่ แม้กวนอูฆ่าทหารอ้วนเสี้ยวคนนี้เสียได้ อ้วนเสี้ยวรู้ก็จะฆ่าเล่าปี่ เมื่อเล่าปี่ตายแล้วกวนอูก็จะเป็นสิทธิ์อยู่แก่ท่าน  โจโฉเห็นชอบด้วยความคิดซิหลงกวนอูจึงถูกเรียกตัวออกศึก โจโฉพากวนอูขึ้นไปบนเนินเขาและชี้ให้ดูตัวงันเหลียง กวนอูจึงว่า "งันเหลียงคนนี้หรือ ข้าพเจ้าพอจะสู้ได้ ท่านอย่าวิตกเลย ข้าพเจ้าจะตัดศีรษะงันเหลียงมาให้ท่านจงได้   และได้ตัดคอบุนทิวและงันเหลียง สองทหารเอกของอ้วนเสี้ยวดั่งคำสัตย์ที่ได้ลั่นวาจาไว้ แม้จะไม่ยอมเป็นข้ารับใช้โจโฉแต่ก็ยอมพลีกายถวายชีวิตในการทำศึกสงครามให้แก่โจโฉ เป็นชายชาติทหารเต็มตัว ช่วยทำศึกให้แก่โจโฉด้วยความสัตย์ซื่อ กตัญญูรู้คุณเพื่อเป็นการทดแทนคุณโจโฉที่ได้เลี้ยงดูและปูนบำเหน็จรางวัลต่าง ๆ ให้มากมาย       นับจากนั้นเป็นต้นมา ชื่อเสียงและกิตติศัพท์ฝีมือง้าวในการทำศึกของกวนอูก็เป็นที่เลื่องลือกล่าวขานและรู้จักกันทั่วทั้งแผ่นดิน ในคราวที่โจโฉนำกำลังบุกลงใต้หวังยึดครองกังตั๋ง จิวยี่แม่ทัพของซุนกวนวางแผนการลอบฆ่าเล่าปี่โดยเชิญมากินโต๊ะ เล่าปี่หลงเชื่อถ้อยคำจิวยี่พาซื่อพาทหารไปกังตั๋งเพียงแค่ 20 คน นั่งดื่มเหล้ากับจิวยี่จนเมาในค่าย จิวยี่นัดแนะกับทหารไว้เมื่อเห็นตนเองทิ้งจอกเหล้าให้สัญญาณก็ให้ทหารที่เตรียมซุ่มไว้ออกมาฆ่าเล่าปี่ ระหว่างกินโต๊ะจิวยี่เห็นกวนอูยืนถือกระบี่อยู่ด้านหลังของเล่าปี่จึงถามว่าเป็นใคร เมื่อเล่าปี่ตอบว่า "กวนอูเป็นน้องข้าพเจ้าเอง" จิวยี่ก็ตกใจจนเหงื่อกาฬไหลโทรมกาย เกรงกลัวฝีมือของกวนอูจนล้มเลิกแผนการฆ่าเล่าปี่           ในคราวศึกเซ็กเพ็ก ภายหลังจากขงเบ้งทำพิธีเรียกลมอาคเนย์ให้แก่จิวยี่และลอบหลบหนีด้วยแผนกลยุทธ์หลบหนีจากการถูกปองร้ายของจิวยี่ เดินทางกลับยังแฮเค้าพร้อมกับจูล่ง ขงเบ้งมอบหมายให้จูล่งคุมทหารสามพันไปซุ่มรอที่ตำบลฮัวหลิม ให้เตียวหุยคุมทหารสามพันไปซุ่มรอที่เนินเขาปากทางตำบลโฮโลก๊ก ให้บิต๊กและบิฮองคุมทหารไปดักรออยู่ตามชายทะเลคอยดักจับทหารโจโฉที่หลบหนีมา ให้เล่ากี๋คุมเรือรบไปตั้งอยู่ที่ตำบลฮูเชียงและให้เล่าปี่คุมทหารไปคอยดูแผนการเผาทัพเรือโจโฉของจิวยี่อยู่บนเนินเขา ขงเบ้งจงใจไม่เลือกใช้กวนอูทำให้กวนอูน้อยใจจึงกล่าวแก่ขงเบ้งว่า "ตัวข้าพเจ้านี้มาอยู่กับเล่าปี่ช้านานแล้ว แลเล่าปี่จะทำการสิ่งใดก็ย่อมใช้สอยข้าพเจ้าให้อาสาไปทำการก่อนทุกแห่ง ครั้งนี้ท่านแคลงข้าพเจ้าสิ่งใดหรือ   จึงไม่ใช้ไปทำการเหมือนคนทั้งปวง" ขงเบ้งจึงมอบหมายให้กวนอูคุมทหารห้าร้อยไปตั้งสกัดอยู่ทางฮัวหยง แต่ก็เกิดความคลางแคลงกวนอู ด้วยความเป็นคนสัตย์รู้จักคุณคน เกรงกวนอูจะนึกถึงคุณโจโฉที่เคยเอ็นดูทำนุบำรุงมาแต่ก่อนจึงไม่ฆ่าเสียและปล่อยให้หลุดรอดไป กวนอูจึงยอมทำทัณฑ์บนแก่ขงเบ้งด้วยศีรษะของตนเองถ้าไปดักรอโจโฉที่เส้นทางฮัวหยงแล้วปล่อยให้หลบหนีไปได้     โจโฉแตกทัพไปตามเส้นทางที่ขงเบ้งคาดการณ์ไว้จนถึงฮัวหยง พบกวนอูขี่ม้าถือง้าวคุมทหารออกมายืนสกัดขวางทางไว้ โจโฉเกิดมานะฮึกเฮิมจะต่อสู้แต่เรี่ยวแรงและกำลังของทหารที่ติดตามมานั้นอ่อนแรง เทียหยกจึงกล่าวแก่โจโฉว่า "จะหนีจะสู้นั้นก็ไม่ได้ อันน้ำใจกวนอูเป็นทหารนั้นก็จริง ถ้าเห็นผู้ใดไม่สู้รบแล้วก็มิได้ทำอันตราย ประการหนึ่งเป็นผู้มีความสัตย์ ทั้งรู้จักคุณคนนักด้วย แล้วท่านก็ได้เลี้ยงดูมีคุณไว้ต่อกวนอูเป็นอันมาก แม้ท่านเข้าไปว่ากล่าวโดยดี เห็นกวนอูจะไม่ทำอันตรายท่าน"" โจโฉเห็นชอบด้วยจึงว่ากล่าวตักเตือนกวนอูให้ระลึกถึงบุญคุณแต่ครั้งเก่าคราวที่กวนอูหักด่านถึง 5 ตำบล ฆ่า 6 ขุนพลและทหารเป็นจำนวนมาก ขอให้กวนอูเปิดทางให้หลบหนีไป กวนอูนั้นเป็นคนกตัญญูรู้คุณคน ได้ฟังโจโฉว่ากล่าวก็สงสารนึกถึงคุณโจโฉซึ่งมีมาแต่หนหลัง จึงยอมเปิดทางให้โจโฉหลบหนีไปโดยตนเองเลือกยอมรับโทษประหารตามที่ได้ลั่นวาจาสัตย์และทำทัณฑ์บนไว้แก่ขงเบ้ง  

๔.  ความกล้าหาญ

เมื่อคราวเล่าปี่ตั้งตนเป็นใหญ่ในเสฉวนและสถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าฮันต๋ง ได้ให้กวนอูไปกินตำแหน่งเจ้าเมืองเกงจิ๋วซึ่งเป็นหัวเมืองเอกของเสฉวน แต่เดิมเกงจิ๋วเป็นของซุนกวน โลซกรับเป็นนายประกันให้เล่าปี่ยืมเกงจิ๋วโดยสัญญาว่าเมื่อได้เสฉวนจะคืนเกงจิ๋วให้ แต่เมื่อเล่าปี่ได้เสฉวนกลับไม่ยอมคืนเกงจิ๋วให้ตามสัญญา ซุนกวนให้จูกัดกิ๋นพี่ชายขงเบ้งเป็นทูตไปเจรจาขอคืน แต่เล่าปี่ก็แสร้งบิดพลิ้วไม่ยอมคืนแต่จะยกเมืองเตียงสา เมืองเลงเหลงและเมืองฮุยเอี๋ยวให้แทน โดยให้ไปเจรจาขอเกงจิ๋วคืนแก่กวนอูผู้เป็นเจ้าเมือง โลซกจึงวางแผนการชิงเกงจิ๋วคืนด้วยการเชิญกวนอูมากินโต๊ะ ณ ปากน้ำลกเค้า ถ้าเจรจาขอเกงจิ๋วคืนจากกวนอูไม่สำเร็จจะใช้กำลังเข้าแย่งชิงโดยให้กำเหลงและลิบองคุมทหารซุ่มรออยู่รอบด้าน                                                 กวนอูรับคำเชิญของโลซก แต่กวนเป๋งเกรงกวนอูจะได้รับอันตรายหากไปกินโต๊ะตามคำเชิญ กวนอูจึงให้เหตุผลว่า "เหตุทั้งนี้เพราะจูกัดกิ๋นไปบอกซุนกวน โลซกจึงคิดกลอุบายให้เราไปกินโต๊ะแล้วจะได้ทวงเอาเมืองเกงจิ๋วคืนไปไว้เป็นกรรมสิทธิ์ซุนกวน ครั้นเราจะไม่ไปชาวเมืองกังตั๋งจะดูหมิ่นเราว่ากลัว พรุ่งนี้เราจะพาทหารแต่ยี่สิบคนลงเรือเร็วไปกินโต๊ะ จะดูท่วงทีโลซกจะเกรงง้าวที่เราถือหรือไม่" แต่กวนเป๋งเกรงเล่าปี่จะตำหนิถ้าหากปล่อยให้กวนอูไปกังตั๋ง มิใยกวนเป๋งและม้าเลี้ยงจะห้ามปราม กวนอูก็ยืนยันคำเดิมตามที่ได้ลั่นวาจาไว้พร้อมกับกล่าวว่า "เจ้าอย่าวิตกเลย อันบิดานี้ก็มีฝีมือเลื่องลืออยู่ แต่ทหารโจโฉเป็นอันมากนับตั้งแสน บิดากับม้าตัวเดียวก็ยังไม่ต้องเกาทัณฑ์แลอาวุธทั้งปวง ขับม้ารบพุ่งรวดเร็วเป็นหลายกลับ อุปมาเหมือนเข้าดงไม้อ้อแลออกจากพงแขม จะกลัวอะไรแก่ทหารเมืองกังตั๋งเพียงนี้ดังหนูอันหาสง่าไม่ ได้ออกปากว่าจะไปแล้วจะให้เสียวาจาไย"           กวนอูข้ามฟากไปกินโต๊ะตามคำเชิญของโลซกโดยลงเรือเร็ว มีนายท้ายกะลาสีประมาณยี่สิบคนพร้อมธงแดงสำหรับกวนอู แต่งกายโอ่โถงใส่เสื้อแพรสีม่วง โพกแพรสีเขียวปราศจากเกราะป้องกัน มีจิวฉองแบกง้าวนั่งเคียงข้าง มีทหารฝีมือเยี่ยมติดตามมาด้วยประมาณเจ็ดแปดคน บุกเดี่ยวไปยังดินแดนกังตั๋งด้วยความองอาจกล้าหาญมิเกรงกลัวต่อความตายที่อาจเกิดขึ้นได้ในต่างแดน โลซกเห็นกวนอูแต่งกายมีสง่าน่าเกรงขามก็เกิดความหวาดกลัว เกรงจะเจรจาขอเกงจิ๋วคืนไม่สำเร็จ ครั่นคร้ามกวนอูขนาดเสพย์สุราก็มิอาจเงยหน้าขึ้นดูกวนอู ไม่กล้าเอ่ยปากเจรจาขอเกงจิ๋วคืน รอจนกวนอูใกล้เมาจึงเอ่ยปากขอเกงจิ๋วคืนจากกวนอู  แต่แผนการของโลซกไม่ประสบความสำเร็จ กวนอูบอกปัดไม่ยอมคืนเกงจิ๋วโดยให้ไปเจรจาต่อเล่าปี่ แสร้งทำเป็นเมามายไม่ได้สติและฉวยง้าวจากจิวฉองที่ถือยืนคอยอยู่มาแกว่งไว้ในมือ อีกมือหนึ่งยึดเอามือโลซกไว้แล้วจูงมือเดินออกมานอกค่ายแล้วกล่าวว่า "ท่านหามากินโต๊ะนี้ก็ขอบใจแล้ว แต่เหตุใดจึงเอาการเมืองเกงจิ๋วมาว่าด้วยเล่า บัดนี้เราก็เมาสุราอยู่ แม้ไม่คิดถึงว่าได้รักกันมาแต่ก่อนก็จะขัดเคืองกันเสีย เราจึงอุตส่าห์ระงับโทสะไว้ เราจะลาท่านไปก่อนต่อวันอื่นเราจะเชิญท่านไปกินโต๊ะที่เมืองเกงจิ๋วบ้าง" แล้วก็ลงเรือชักใบกลับเกงจิ๋วโดยอาศัยความกล้าหาญที่มีอยู่เต็มเปี่ยมในตัวเอง ทำลายแผนการของโลซกที่จะทวงเอาเกงจิ๋วคืนได้สำเร็จจนกลายเป็นเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน
เมื่อคราวกวนอูนำกำลังทหารบุกโจมตียึดเมืองซงหยงและจับตัวอิกิ๋มกลับไปเกงจิ๋ว จึงแบ่งกำลังทหารจำนวนหนึ่งไปอยู่ที่ตำบลเกียบแฮซึ่งเป็นทางเข้าของเมืองอ้วยเซียเพื่อยึดครองตามคำสั่งขงเบ้ง แต่กวนอูเสียทีถูกทหารโจหยินยิงด้วยเกาทัณฑ์อาบยาพิษที่ไหล่จนตกจากหลังม้า กวนเป๋งเป็นผู้ช่วยเหลือนำกวนอูกลับยังค่าย ลูกเกาทัณฑ์ที่ไหล่กวนอูนั้นอาบด้วยยาพิษซึมซาบเข้าไปในกระดูกสร้างความเจ็บปวดเป็นอย่างมากจนไม่อาจเคลื่อนไหวได้ กวนเป๋งได้เชิญฮัวโต๋ซึ่งเป็นหมอเอกชาวเมืองเกาจุ๋นมาช่วยรักษาบาดแผลจากพิษเกาทัณฑ์ให้แก่กวนอู
กวนอูได้รับความเจ็บปวดจากพิษเกาทัณฑ์ แต่เกรงทหารทั้งหมดจะเสียน้ำใจจึงสู้อุตส่าห์ระงับความเจ็บปวดและแสร้งทำเป็นปกติไม่มีอาการเจ็บปวดแม้แต่น้อย เรียกม้าเลี้ยงให้มาเล่นหมากรุกเพื่อหวังให้ทหารทั้งหมดมีน้ำใจ ฮัวโต๋มาทำการรักษาอาการบาดเจ็บให้แก่กวนอูและว่า "แผลเกาทัณฑ์อาบด้วยยาพิษซาบเข้าไปในกระดูก ถ้ามิเร่งรักษานานไปไหล่จะเสีย" และให้ทำปลอกรัดกวนอูไหวกับเสาเพื่อป้องกันไม่ให้ไหวตัว แต่กวนอูปฏิเสธและบอกว่า "อย่าพักเอาปลอกรัดเลย ท่านจะทำประการใดก็ตามแต่จะทำเถิด เราจะนิ่งให้ทำ" และเอียงไหล่ให้ฮัวโต๋เอามีดเชือดเนื้อร้ายออก ใส่ยาและเอาเข็มเย็บบาดแผลไว้ เมื่อรักษาเสร็จกวนอูจึงว่า"เราหาเจ็บไม่ หายแล้ว" และกล่าวสรรเสริญฮัวโต๋ประหนึ่งเป็นเทพดา ฮัวโต๋จึงว่า "แต่ข้าพเจ้ารักษาคนป่วยมานี้ก็มากอยู่แล้ว หาเหมือนท่านไม่ อันท่านนี้มีน้ำใจทนทานต่อความเจ็บไม่สะดุ้งสะเทือนเลยดีนัก"

๕.  ความหยิ่งทรนง


แม้กวนอูจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความสัตย์ซื่อถือคุณธรรม กตัญญูรู้คุณและมีความกล้าหาญ แต่ถ้าพิจารณาจากวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรื่องราวชีวิตของกวนอูตั้งแต่เริ่มพบกับเล่าปี่และเตียวหุย จนถึงการจบชีวิตพร้อมกับกวนเป๋งเมื่อคราวเสียเกงจิ๋ว ก็อาจกล่าวได้ว่ากวนอูนั้นเป็นผู้ที่เหมาะสมและคู่ควรแก่การเป็นยอดวีรบุรุษ เป็นผู้กล้าที่กอปรไปด้วยสติปัญญาอันหลักแหลม เป็นยอดขุนพลผู้มีฝีมือล้ำเลิศจนเป็นที่กล่าวขานไปทั่ว สามารถกุมชัยชนะในการต่อสู้ทำศึกสงครามมานับครั้งไม่ถ้วน แต่สุดท้ายกวนอูก็พลาดท่าเสียทีให้แก่ขุนพลผู้เยาว์วัยเช่นลกซุน และต้องแลกเกงจิ๋วกับความผิดพลาดของตนเองด้วยชีวิต           
ข้อเสียอันร้ายแรงของกวนอูคือความเย่อหยิ่งทรนงในศักดิ์ศรีและเชื่อมั่นในตนเองมากจนเกินไป ไม่เชื่อถือผู้ใดนอกจากตนเอง เมื่อคราวที่เล่าปี่ไปเชิญขงเบ้งจากเขาโงลังกั๋งถึงสามครั้งเพื่อให้เป็นที่ปรึกษาในการทำราชการแผ่นดิน กวนอูไม่ยอมรับฟังคำสั่งของขงเบ้งด้วยเห็นว่าอายุน้อยกว่าตนเอง เตียวหุยและเล่าปี่ รวมทั้งเมื่อเล่าปี่ให้ความเคารพนับถือขงเบ้งประดุจอาจารย์ กวนอูยิ่งเกิดความน้อยใจในตนเองเป็นอย่างยิ่งจึงกล่าวว่า"ขงเบ้งนั้นอายุยี่สิบเจ็ดปีอ่อนกว่าท่านอีก แล้วก็ยังมิได้ปรากฏปัญญาแลความคิดมาก่อน เหตุใดท่านจึงมาคำนับขงเบ้งดังอาจารย์ฉะนี้" และด้วยนิสัยที่ไม่ยอมอ่อนต่อผู้อื่น กวนอูจึงถูกขงเบ้งดัดนิสัยในคราวศึกทุ่งพกบ๋องด้วยการขอกระบี่และอาญาสิทธิ์ของเล่าปี่ไว้ในครอบครองเพื่อสั่งการแก่กวนอู


ขงเบ้งมอบหมายให้กวนอูคุมทหารพันนายไปซุ่มรอคอย ณ เขาอีสัน ให้เตียวหุยคุมทหารพันนายไปซุ่มรอคอย ณ ป่าอันหลิม ให้จูล่งคุมทหารยกไปเป็นกองหน้าและให้เล่าปี่คุมกำลังทหารไปเป็นกองหนุนจูล่ง กวนอูจึงกล่าวแก่ขงเบ้งว่า "ท่านจัดแจงเราทั้งปวงให้ยกไปทำการ ทั้งนี้ก็เห็นชอบอยู่แล้ว แลตัวท่านนั้นจะทำเป็นประการใดเล่า" แต่เมื่อแผนการเผาทัพแฮหัวตุ้นของขงเบ้งประสบความสำเร็จ กองทัพของแฮหัวตุ้นสูญเสียไพร่พลเป็นจำนวนมากที่ทุ่งพกบ๋อง ทำให้กวนอูยอมรับในสติปัญญาของขงเบ้งและยอมเชื่อฟังคำสั่งของขงเบ้งมาโดยตลอด
ภายหลังเล่าปี่ตั้งตนเองเป็นใหญ่ในเสฉวน สถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าฮันต๋ง ได้มอบหมายให้บิสีถือตรามาแต่งตั้งให้กวนอูเป็นทหารเสือที่เอกของเล่าปี่ โดยเหล่าทหารเสือประกอบไปด้วย กวนอู เตียวหุย จูล่ง ม้าเฉียวและฮองตง เมื่อกวนอูได้ฟังดังนั้นก็โกรธจึงว่า "เตียวหุยก็เป็นน้องของเรา จูล่งเล่าก็ได้ติดตามพี่เรามาช้านานแล้ว ก็เหมือนหนึ่งเป็นน้องของเรา ฝ่ายม้าเฉียวเล่าก็เป็นชาติเชื้อตระกูลอยู่ แต่ฮองตงคนนี้เป็นแต่เชื้อพลทหารชาติต่ำ เป็นคนแก่ชราหาควรจะตั้งให้เสมอเราด้วยไม่ ซึ่งมีตรามาดังนี้หายังหายอมไม่ก่อน"
ก่อนที่กวนอูจะเสียเกงจิ๋วและพ่ายแพ้จนถูกประหารชีวิต ซุนกวนได้ส่งจูกัดกิ๋นเป็นเถ้าแก่มาเจรจาสู่ขอบุตรสาวของกวนอูเพื่อแต่งงานกับบุตรชายของซุนกวน แต่กวนอูปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่าบุคคลผู้สืบทอดแซ่ซุนมาสามชั่วอายุคนนั้น ถึงแม้จะยิ่งใหญ่ก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่ด้วยตนเองจึงไม่นิยมและนับถือซุนกวน ถือคติตีราคาค่าของตนเองยิ่งใหญ่กว่าซุนกวนด้วยถ้อยคำปฏิเสธการสู่ขอว่า "บุตรของเรานี้ชาติเชื้อเหล่าเสือ ไม่สมควรจะให้แก่สุนัข ท่านว่ามาดังนี้ ถ้าเรามิคิดเห็นแก่หน้าขงเบ้งน้องของท่าน เราก็จะฆ่าท่านเสีย อย่าว่าไปเลย" โดยที่กวนอูไม่ทันยั้งคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเล่าปี่และซุนกวน ซึ่งเล่าปี่มีฐานะเป็นราชบุตรเขยของแซ่ซุน อีกทั้งการปฏิเสธซุนกวนแบบไม่มีเยื่อใยของกวนอู กลายเป็นการสร้างชนวนให้ซุนกวนเป็นพันธมิตรกับโจโฉ ทำลายยุทธศาสตร์สามก๊กของขงเบ้งจนเป็นเหตุให้กวนอูพ่ายแพ้และเสียชีวิต
และเมื่อกวนอูได้รับคำสั่งจากเล่าปี่ให้คอยรักษาเมืองเกงจิ๋ว ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการทำศึกสงคราม แต่ด้วยความหยิ่งทรนงและเชื่อมั่นในฝีมือตนเอง กวนอูก็มิได้ใส่ใจปฏิบัติตามคำสั่งของขงเบ้งที่กล่าวว่า"ท่านจะอยู่ภายหลังนั้น จงจัดแจงระมัดระวังตัวข้างฝ่ายเหนือคอยสู้โจโฉให้ได้ ฝ่ายใต้นั้นท่านจงทำใจดีประนอมด้วยซุนกวนโดยปรกติ เมืองเกงจิ๋วจึงจะมีความสุข" จึงเป็นเหตุเสียเกงจิ๋วให้แก่ซุนกวนและทำให้ตนเองต้องเสียชีวิต

ด้านครอบครัว
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์จีนระบุว่า กวนอูมีบุตรจำนวน 4 คนได้แก่กวนเป๋ง กวนหิน กวนสกและบุตรสาว โดยสันนิษฐานว่ากวนหิน กวนสกและบุตรสาวนั้น เป็นบุตรของกวนอูซึ่งเกิดจากภรรยาที่เล่าปี่เป็นผู้สู่ขอให้เมื่อคราวกวนอูครองเมืองเกงจิ๋ว โดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์จีนไม่ปรากฏชื่อของบุตรสาวและภรรยาของกวนอู กวนหินเป็นบุตรชายคนโต ปรากฏตัวในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กภายหลังจากกวนอูและเตียวหุยเสียชีวิต แต่เดิมอยู่เมืองเกงจิ๋วร่วมกับกวนอู หลังจากกวนอูเสียชีวิตได้ติดตามเล่าปี่ออกทำศึกกับซุนกวนมาโดยตลอด กวนสกซึ่งเป็นบุตรชายคนรอง ปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อคราวช่วยขงเบ้งรบกับเบ้งเฮ็กและบุตรสาวของกวนอู ปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อคราวซุนกวนส่งจูกัดกิ๋นไปเป็นเถ้าแก่สู่ขอให้แก่บุตรชายของตน สำหรับกวนเป๋งเป็นบุตรบุญธรรม แต่เดิมเป็นบุตรชายของกวนเต๋ง ได้พบกับกวนอูเมื่อคราวที่กวนอูและซุนเขียนนำกำลังทหารยี่สิบคนไปทางทิศเหนือใกล้กับเมืองกิจิ๋วเพื่อพบเล่าปี่
กวนอูได้ไปขอพักอาศัยในบ้านป่าแห่งหนึ่ง กวนเต๋งผู้เป็นเจ้าของบ้านได้ยินกิตติศัพท์และชื่อเสียงของกวนอูมานานจึงว่า "ท่านกับเราเป็นแซ่เดียวกัน แต่ก่อนนั้นเราก็ได้ยินลืออยู่ว่าท่านมีฝีมือกล้าหาญ ประกอบทั้งความสัตย์ซื่อ ซึ่งได้พบท่านนี้เป็นบุญของเรา" และนำกวนเป๋งและกวนเหล็งมาคำนับกวนอู โดยมอบกวนเป๋งบุตรชายคนเล็กให้เป็นบุตรบุญธรรมของกวนอูเมื่ออายุได้ 15 ปี โดยเล่าปี่เห็นเหมาะสมด้วยว่าขณะนั้นกวนอูยังไม่มีบุตรสืบสกุล หลังจากกวนเป๋งเป็นบุตรบุญธรรมของกวนอู ได้ติดตามเคียงข้างกวนอู ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ช่วยทำศึกตลอดเวลา เมื่อคราวที่กวนอูถูกจับได้ที่เขาเจาสัน กวนเป๋งวิ่งเข้าไปหาหมายจะช่วยเหลือกวนอู แต่ถูกจูเหียนคุมทหารเข้าล้อมจับตัวได้ก่อนถูกประหารชีวิตพร้อมกับกวนอู

อาวุธ
กวนอูมีอาวุธประจำกายคือง้าวรูปจันทร์เสี้ยว สร้างขึ้นเมื่อคราวเล่าปี่ กวนอูและเตียวหุยออกเกลี้ยกล่อมราษฎร รวบรวมกำลังไพร่พลจัดตั้งกองทัพออกต่อสู้กับโจรโพกผ้าเหลือง ได้มีพ่อค้าม้าชื่อเตียวสิเผงและเล่าสงได้ร่วมบริจาคม้าจำนวนห้าสิบ เงินห้าร้อยตำลึงและเหล็กร้อยหาบสำหรับสร้างเป็นอาวุธจำนวนมาก เล่าปี่ให้ช่างตีเหล็กเป็นกระบี่คู่แบบโบราณ เตียวหุยให้ช่างตีเหล็กเป็นทวนรูปร่างลักษณะคล้ายงู
สำหรับกวนอูให้ช่างตีเหล็กเป็นง้าวขนาดใหญ่รูปจันทร์เสี้ยว ประดับลวดลายมังกรขนาดความยาว 11 ศอกหรือประมาณ 3.63 เมตร หนัก 82 ชั่งหรือประมาณ 65.6 กิโลกรัม มีชื่อเรียกเฉพาะว่า ชิงหลงเหยี่ยนเยฺว่เตา(จีนตัวเต็ม: 青龍偃月刀;           พินอิน: qīnglóng yǎnyuèdāo) หรือง้าวมังกรเขียว (บ้างเรียกง้าวมังกรจันทร์ฉงาย) ตลอดระยะเวลาในการตรากตรำทำศึกสงครามร่วมกับเล่าปี่และเตียวหุย กวนอูใช้ง้าวมังกรเขียวเป็นอาวุธประจำกายตลอดเวลาจนกระทั่งเสียชีวิต ในสามก๊กฉบับภาษาไทย สำนวนแปลของ "ยาขอบ" (ซึ่งยึดฉบับแปลภาษาอังกฤษ Romance of the Three kingdoms โดย C.H. Brewitt-Taylor เป็นต้นฉบับ) นั้น ครูยาขอบได้ถอดชื่อง้าวของกวนอูให้ฟังเป็นไทยๆ ว่า ง้าว "นิลนาคะ" (เทียบ - "นาคะ" คือ มังกร "นิล" หมายเอาความว่าสืเขียวแก่เกือบดำ หรือสีน้ำเงินเข้ม)
เมื่อคราวโจโฉทำศึกกับตั๋งโต๊ะ กวนอูใช้ง้าวมังกรเขียวตัดคอฮัวหยงมาให้โจโฉที่หน้าค่ายด้วยความรวดเร็ว โดยที่ยังไม่จบเพลงรบและเหล้าที่โจโฉอุ่นมอบให้แก่กวนอูยังคงอุ่น ๆ สังหารงันเหลียงและบุนทิว สองทหารเอกของอ้วนเสี้ยวในคราวศึกตำบลแปะแบ๊ด้วยง้าวมังกรเขียวในเพลงเดียวเช่นกัน ตลอดระยะเวลาการทำศึกกวนอูไม่เคยห่างจากง้าวมังกรเขียว เมื่อเล่าปี่ให้กวนอูไปกินตำแหน่งเจ้าเมืองเกงจิ๋วร่วมกับกวนเป๋งและจิวฉอง โดยจิวฉองรับหน้าที่ดูแลรักษาง้าวมังกรเขียวและถือแทนกวนอู เมื่อซุนกวนให้โลซกทางเกงจิ๋วคืนจากเล่าปี่ โลซกได้เชิญกวนอูไปกินโต๊ะที่ค่าย ณ ปากน้ำลกเค้า จิวฉองก็คอยติดตามถือง้าวมังกรเขียวเคียงข้างกวนอูตลอด
เมื่อคราวที่กวนอูพลาดท่าเสียทีลิบองและลกซุนจนถูกล้อมอยู่ที่เมืองเป๊กเสีย ก่อนจะนำกำลังทหารจำนวนร้อยคนหักตีฝ่าออกมาจนถูกจับตัวได้พร้อมกับกวนเป๋งและถูกประหารชีวิตในภายหลัง ง้าวของกวนอูถูกพัวเจี้ยงยึดเอาไปใช้ แต่กวนหินบุตรชายของกวนอูเป็นผู้สังหารพัวเจี้ยงและนำง้าวของกวนอูกลับคืนมา


ความเคารพนับถือ
แต่เดิมจีนโบราณให้ความเคารพนับถืองักฮุยเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ สืบต่อกันมาเป็นเวลานานในฐานะเป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อชาติ ด้วยคุณธรรมความดีของงักฮุยส่งผลให้ได้รับการยกย่องเป็นเทพเจ้าแห่งความรักชาติและความจงรักภักดีเป็นที่กล่าวขานกันมาเป็นเวลานาน แต่ปัจจุบันเทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อได้เปลี่ยนมาเป็นกวนอูแทนในหลังยุคสามก๊กมานับพันปี กวนอูเป็นเทพเจ้าที่ชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีนให้ความเคารพบูชาและศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างมาก กวนอูเปรียบเสมือนเทพเจ้าที่ชาวจีนให้ความเคารพกราบไหว้บูชาในฐานะที่เป็นเทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ
ไม่เพียงแต่ยกย่องให้กวนอูเป็นเทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่ออย่างเดียวเท่านั้น หากแต่กวนอูได้รับสมญานามให้เป็นถึง จงอี้เสินอู่กวนเสิ้งต้าตี้ (จีนตัวเต็ม:忠義神武關聖大帝; พินอิน: Zhōngyì Shénwǔ Guān Shèngdàdì) ซึ่งมีความหมายคือมหาเทพกวนผู้ยิ่งใหญ่แห่งความจงรักภักดี คุณธรรมและความกล้าหาญ โดยพระเจ้าเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิงเป็นผู้แต่งตั้งเมื่อ พ.ศ. 2187 เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกเรื่องความสัตย์ซื่อและจงรักภักดีเพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ราษฎรซึ่งคนจีนถือความสัตย์เป็นใหญ่ร่วมกับความกตัญญูรู้คุณคน ทำให้กวนอูกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วและได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์สืบต่อมาเป็นเวลานาน และได้รับการเคารพในฐานะเทพอุปถัมภ์และเทพผู้ปกป้องคุ้มครองของตำรวจ นักการเมืองและผู้นำทางด้านเศรษฐกิจ

จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ของจีนโบราณ กวนอูอาจมีชีวิตก่อนงักฮุยเป็นเวลาเกือบพันปี กล่าวคือกวนอูเป็นบุคคลสำคัญในสมัยยุคสามก๊ก (พ.ศ. 763 - พ.ศ. 823) แต่งักฮุยมีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ. 1503 - พ.ศ. 1822)  กวนอูและงักฮุยเป็นวีรบุรุษที่เป็นที่กล่าวขานกันสืบต่อกันมาเป็นเวลานานในเรื่องของความสัตย์ซื่อและจงรักภักดี ในประเทศไทยชื่อเสียงและกิตติศัพท์ความสัตย์ซื่อ กตัญญูรู้คุณคนของกวนอูอาจจะเป็นที่กล่าวขานและรู้จักกันมากกว่างักฮุย เนื่องจากกวนอูเป็นตัวละครสำคัญในสามก๊กซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นเทพบู๊ (จีน: 武圣) และมีสถานะเทียบกับเทพบุ๋น (จีน: 文圣) คือขงจื๊อ
ในอดีตบรรพบุรุษของชนเผ่าแมนจู (จีน: 满族) คือพวกเผ่าหนี่ว์เจิน (จีน: 女真族) หรือจิน (พ.ศ. 1658 - พ.ศ. 1777) แมนจูเป็นชนเผ่าที่เรืองอำนาจขึ้นมาในยุคสมัยเดียวกับราชวงศ์ซ่งใต้ ภายหลังจากราชวงศ์ซ่งล่มสลายลงจนถึงราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิง จนกระทั่งราชวงศ์ชิงที่ก่อตั้งขึ้นโดยชาวแมนจู แม้กาลเวลาจะล่วงเลยผ่านมานานหลายร้อยปี แต่การที่ชาวจีนให้ความเคารพนับถืองักฮุยในฐานะวีรบุรุษต่อต้านเผ่าแมนจูหรือเผ่าจินก็ยังคงอยู่ไม่เสื่อมคลาย ซึ่งการให้การยกย่องและเคารพนับถืองักฮุยนั้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติสำหรับราษฎรทั่วไป แต่ในสายตาของขุนนางบู๊และบุ๋นภายในราชสำนักชิง การให้ความเคารพนับถือบูชางักฮุยในฐานะวีรบุรุษต้านชนเผ่าจินเป็นการเปรียบได้กับการให้ความเคารพนับถือบูชาผู้ที่ต่อต้านราชวงศ์ชิงนั่นเอง ดังนั้นราชสำนักชิงจึงวางกลอุบายยกย่องกวนอูให้เป็นอีกหนึ่งวีรบุรุษในประวัติศาสตร์จีน เพื่อให้กวนอูกลายเป็นที่ศรัทธาเคารพบูชาของสามัญชนทั่วไปในฐานะเทพเจ้าผู้มีความสัตย์ซื่อ เพื่อเป็นการลดกระแสการเคารพนับถือและเชิดชูงักฮุยให้เบาบางลง

เทพเจ้ากวนอู
กวนอูเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่มีจริยธรรมในด้านความสัตย์ซื่อและความกล้าหาญ ได้รับการยกย่องสรรเสริญเป็นอย่างมากจากผู้ปกครองในหลายดินแดนว่าเป็นบุคคลดีเด่นในประวัติศาสตร์และกลายมาเป็นเทพเจ้าที่ได้รับการเคารพบูชากราบไหว้ กวนอูได้รับเกียรติอย่างสูงสุดคือได้รับการยกย่องให้เทียบเท่ากับขงจื๊อ คือได้รับการขนานนามว่า "เป็นนักบุญพฤติธรรม" และ "เทพเจ้าแห่งสงคราม] ภายหลังจากกวนอูเสียชีวิต มีข่าวลือว่าศีรษะของกวนอูถูกฝังอยู่ทางตอนใต้ของเมืองลกเอี๋ยง ผู้คนที่ทราบข่าวและศรัทธาในตัวกวนอูจึงไปสร้างวัดเทพเจ้ากวนอูและวัดกวนหลินในเมืองลกเอี๋ยง เพื่อเป็นการสักการบูชากราบไหว้ในคุณความดีทั้งสี่ของกวนอูคือ "สัตย์ซื่อถือคุณธรรม กตัญญูรู้คุณและความกล้าหาญ"
ในการแสดงอุปรากรจีน หน้ากากกวนอูที่ใช้แสดงจะเป็นสีแดงล้วน มีความหมายถึงความสัตย์ซื่อและความกล้าหาญ รูปนัยน์ตาเรียวเล็กและวาดรูปคิ้วเหมือนหนอนไหม 2 ตัววางพาดลงมา และเนื่องจากเป็นที่รู้จักกันว่ากวนอูมีหนวดเครายาวมากจึงเรียกขานนามกวนอูว่า "ขุนนางเคราเขียว" และเพื่อเป็นการแสดงความเคารพนับถือกวนอู ในการแสดงอุปรากรจีนจึงไม่เลียนแบบลักษณะของกวนอูให้เหมือนทุกอย่าง หากแต่หน้ากากกวนอูจะเติมเพียงจุดดำลงบนหน้ากากด้วยหนึ่งจุด ซึ่งเป็นการแต้มจุดดำด้วยความตั้งใจของผู้แสดง

ศาลเจ้ากวนอู
ปัจจุบันมีวัดและศาลเจ้าของกวนอูจำนวนมากทั้งในประเทศจีน ประเทศไทยและต่างประเทศ ทำให้กวนอูกลายเป็นหนึ่งในเทพเจ้าที่มีวัดและศาลเจ้ามากที่สุด ในเมืองปักกิ่งสมัยราชวงศ์ชิง ในประเทศจีนเคยมีศาลเจ้ากวนอูถึง 116 แห่ง และมีศาลเจ้ากวนอูที่ประเทศไต้หวันถึง 500 แห่ง นอกจากนี้กวนอูยังเป็นเทพพิทักษ์ในด้านการค้าขายเช่น การจำนอง, ช่างทอง, ผ้าไหม และผ้าต่วน
ในประเทศจีนศาลเจ้ากวนอูตั้งอยู่ที่ลัวหยาง ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจีน ภายในศาลเจ้าประกอบไปด้วยตำหนักสามตำหนัก ตำหนักหลักของศาลเจ้ากวนอูตั้งอยู่ภายใน ระยะทางผ่านจากประตูใหญ่เข้าไปประมาณ 50 เมตร มีสิงโตหินจำนวน 104 ตัวเรียงรายสองข้างทาง ที่บริเวณตำหนักใหญ่ (จีน: 大殿) มีรูปปั้นกวนอูขนาดใหญ่เพื่อให้ผู้คนที่เคารพนับถือสักการบูชา ตำหนักที่สอง (จีน: 二殿) หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของลัวหยาง
ซึ่งตามแผนที่ประเทศจีนในปัจจุบัน ตำแหน่งของเมืองกังตั๋งนั้นตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ภายในตำหนักมีรูปปั้นกวนอูในชุดเกราะพร้อมทำการศึกสงคราม รูปปั้นกวนอูภายในตำหนักที่สองหันใบหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ด้วยลักษณะใบหน้าถมึงทึง ดุดัน ดวงตาเบิกกว้างอย่างโกรธแค้น ซึ่งการจ้องมองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกวนอู เป็นการแสดงออกถึงความโกรธแค้นของกวนอูที่มีต่อซุนกวนในการถูกสั่งประหารชีวิต ภายในตำหนักที่สามมีรูปปั้นกวนอูจำนวนสององค์ โดยรูปปั้นทางด้านซ้ายมือเป็นรูปปั้นกวนอูในลักษณะของการอ่านคัมภีร์หลี่ซื่อชุนชิว ทางด้านขวามือเป็นรูปปั้นกวนอูในอิริยาบถพักผ่อน และทางด้านหลังของตำหนักที่สาม เป็นหลุมฝังศพขนาดใหญ่ที่เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ที่โจโฉฝังศีรษะของกวนอูอย่างสมเกียรติในฐานะเจ้าเมืองเกงจิ๋ว
ในประเทศไทยศาลเจ้ากวนอูที่เป็นที่รู้จักของชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีนมากที่สุดตั้งอยู่ที่บริเวณตลาดเก่าเยาวราช สร้างขึ้นโดยพระยาอาชาชาติ (เจ้าพระยาคลัง) หรือเฉินอี้ซาน เพื่อสำหรับให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีนในสมัยนั้น ภายในศาลเจ้ากวนอูทางด้านขวามือมีระฆังทองเหลืองใบใหญ่ตั้งอยู่ ที่ผิวระฆังมีอักษรจารึกระบุสร้างขึ้นในสมัยฮ่องเต้เต๋อจงในยุคสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2435 จึงสันนิษฐานได้ว่าศาลเจ้ากวนอูสร้างขึ้นในระหว่างปีดังกล่าว

เทพเจ้ากวนอูใที่มีความเกี่ยวข้องกับลัทธิเต๋า
กวนอูได้รับการยกย่องให้เป็น จักรพรรดิเทพกวน (จีนตัวเต็ม: 關聖帝君) และเป็นเทพพิทักษ์ตามความเชื่อของลัทธิเต๋า การบูชากวนอูเริ่มต้นในราชวงศ์ซ่ง ตามตำนานเล่าว่าในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1220 ทะเลสาบน้ำเค็มซึ่งในปัจจุบันคือเซี่ยโจว (จีน: 解州鎮) เริ่มที่จะผลิตเกลือไม่ได้ จักรพรรดิฮุยจงจึงทรงมีรับสั่งให้นักพรตจางจี้เซียน (จีน: 張繼先) ตรวจหาสาเหตุ ซึ่งได้ทรงรับรายงานว่าเป็นฝีมือของชือโหยว (จีน: 蚩尤) เทพแห่งสงคราม นักพรตจึงอัญเชิญกวนอูเข้ามาต่อสู้จนเอาชนะชือโหยวและสามารถผลิตเกลือได้ดังเดิม พระจักรพรรดิจึงพระราชทานนามให้กวนอูว่า ผู้เป็นอมตะแห่งฉงหนิง (จีน: 崇寧真君) และยกกวนอูให้เป็นเทพในเวลาต่อมา
ช่วงต้นราชวงศ์หมิง นักพรตจางเจิ้งฉาง (จีน: 張正常) บันทึกในหนังสือของตนเองในชื่อ ฮั่นเทียนซือซื่อเจีย (จีน: 漢天師世家) เพื่อเป็นการยืนยันตำนานนี้ ทุกวันนี้กวนอูได้รับการนับถือมากในลัทธิเต๋า หลายวัดเต๋าอุทิศเพื่อกวนอูโดยเฉพาะวัดจักรพรรดิกวนในเซี่ยโจวที่ได้รับอิทธิพลเต๋าอย่างมาก ทุกวันที่ 24 เดือน 6 ตามหลักจันทรคติ ซึ่งตรงกับวันเกิดของกวนอู จะมีขบวนแห่เฉลิมฉลองแด่กวนอูอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติ


เทพเจ้ากวนอูที่มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา

ตามแนวคิดของชาวพุทธในจีน กวนอูได้รับการยกย่องให้เป็น พระสังฆารามโพธิสัตว์ (จีนตัวเต็ม: 伽藍菩薩แคนำผู่สัก) หมายถึงผู้พิทักษ์ธรรมของชาวพุทธ โดยคำว่า สังฆาราม ในภาษาสันสกฤตหมายถึงสวนชุมชนและหมายถึงวัด ดังนั้น พระสังฆาราม จึงหมายถึงผู้พิทักษ์พระรัตนตรัยนั่นเอง ดังนั้นกวนอูจึงเป็นตัวแทนของเทพผู้พิทักษ์ โดยวัดและสวนที่ตั้งรูปปั้นกวนอูนั้น รูปปั้นของกวนอูมักจะถูกวางไว้ ณ ส่วนไกลด้านซ้ายของพระอุโบสถ คู่กับ พระเวทโพธิสัตว์ (จีนตัวเต็ม: 韋馱菩薩อุ่ยท้อผู่สัก, ตรงกับพระสกันทะหรือพระขันธกุมารของฮินดู)
ตามตำนานชาวพุทธ ในปี พ.ศ. 1135 กวนอูได้ประกาศตนเป็นพุทธมามกะต่อหน้าจื้ออี่ (จีน: 智顗) ผู้ก่อตั้งนิกายสัทธรรมปุณฑริก ว่ากันว่าขณะนั้นจื้ออี่นั่งสมาธิอยู่ที่เขาจวนหยกสันยฺวี่เฉฺวียน (จีน: 玉泉山) และตื่นจากสมาธิเพราะการปรากฏตัวของกวนอู กวนอูขอให้จื้ออี่สอนหลักธรรมให้ตนแล้วปวารณาตนขอรับศีลห้า จึงกลายเป็นที่กล่าวขานกันว่ากวนอูปวารณาตนเป็นผู้พิทักษ์พุทธศาสนาและเป็นผู้ช่วยเหลือจื้ออี่ก่อตั้งวัดยฺวี่เฉฺวียน(จีน: 玉泉寺) จนปรากฏตราบจนทุกวันนี้
ในวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้บรรยายไว้ว่าภายหลังจากที่กวนอูเสียชีวิตได้กลายเป็นอสุรกายที่เต็มไปด้วยความพยาบาทลิบองอยู่ในภูเขา และได้ไปปรากฏร่างต่อหลวงจีนเภาเจ๋ง (จีน: 普淨) บนยอดเขาจวนหยกสัน(จีน: 玉泉山) เพื่อเรียกร้องให้นำศีรษะตนเองกลับคืนมา จากการเทศนาของหลวงจีนเภาเจ๋งที่กล่าวว่า "กงเกวียนกำเกวียน ตัวฆ่าเขาเขาฆ่าตัว เมื่อท่านฆ่างันเหลียง บุนทิวแลนายด่านห้าตำบลเสีย ใครมาทวงศีรษะแก่ท่านบ้าง ครั้งนี้ท่านเสียทีแก่ข้าศึกถึงแก่ความตายแล้ว ท่านมาร้องทวงศีรษะแก่ใครเล่า"  ทำให้กวนอูได้ซาบซึ้งในรสพระธรรมและปวารณาตนเป็นผู้พิทักษ์ศาสนาพุทธ

วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประวัติของเจ้าแม่กวนอิม

                                     
                     ประวัติของเจ้าแม่กวนอิม
  
             เนื่องด้วยวันที่  ๒๖  กรกฎาคม  ๒๕๕๖ นี้  ถือเป็นวันประสูติ  ของพระโพธิสัตว์กวนอิมอวโลกิเตศวร  ทางชมรมฯ จึงขออนุญาตนำพระประวัติของเจ้าแม่กวนอิมมาเผยแพร่




     ประวัติความเป็นมาของเจ้าแม่กวนอิม กวนอิม ตามสำเนียงฮกเกี้ยน หรือกวนอินตามสำเนียงกลาง (จีน: 觀音; พินอิน: Guān Yīn; อังกฤษ: Guan Yin) พระโพธิสัตว์ ของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เป็นองค์เดียวกันกับพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ในภาษาสันสกฤต  ซึ่งมีต้นกำเนิดจากพระสูตรมหายานในอินเดีย    และได้ผสมผสานกับตำนานเรื่องพระธิดาเมี่ยวซ่าน ซึ่งเป็นความเชื่อพื้นถิ่นดั้งเดิมของจีนจนก่อให้เกิดเป็นพระโพธิสัตว์กวนอิมในภาคสตรีขึ้น  เพื่อแสดงออก   ถึงความอ่อนโยน   และแสดงถึงความเมตตากรุณาให้เด่นชัดยิ่งขึ้นดัง   เช่น  ความรักของมารดาที่มีต่อบุตร   ซึ่งเป็นการผสมผสานกลมกลืนทางความเชื่อที่ปราศจากข้อขัดแย้ง เนื่องจากในสัทธรรมปุณฑรีกสูตรได้อธิบายว่า  พระอวโลกิเตศวรนั้น


           สามารถแบ่งภาคเพื่อโปรดสรรพสัตว์ได้มากมายทั้งปางบุรุษและสตรี และเป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์มหายานที่เมื่อเข้าไปสู่ดินแดนอื่นทั้งทิเบต จีน หรือญี่ปุ่น ย่อมผสมผสานกลมกลืนได้กับเทพท้องถิ่นนั้น ๆ อย่างในกรณีพระอวโลกิเตศวรนั้น Sir Charles Eliot ได้ตั้งข้อสังเกตว่า "คงเนื่องมาจากความสับสนทางความคิดของชาวจีนในยุคนั้นซึ่งบูชาเทพเจ้าต่าง ๆ ของตนอยู่แล้ว และเมี่ยวซ่านก็เป็นเทพวีรชนดั้งเดิมอยู่ก่อน พออารยธรรมพระโพธิสัตว์จากอินเดียแผ่เข้าไปถึง ได้เกิดการผสานทางวัฒนธรรมเปลี่ยนชื่อเสียงคงไว้เพียงแต่คุณลักษณะต่าง ๆ พอให้แยกออกว่าเป็นพระอวโลกกิเตศวรโพธิสัตว์"
             
           พระโพธิสัตว์กวนอิม (ประสูติ 19 เดือนยี่จีน) ชาติสุดท้ายเป็น ราชธิดานาม เมี่ยวซ่าน เดิมเป็นเทพธิดา จุติลงมายังโลกมนุษย์เพื่อมาช่วยปลดเปลื้องทุกข์ภัยแก่มวลมนุษย์ เป็นราชธิดาองค์สุดท้ายของกษัตริย์เมี่ยวจวง ซึ่งมีราชธิดา 3องค์ องค์โตชื่อ เมี่ยวอิม องค์รองชื่อ เมี่ยวหยวน เยาว์วัยเป็นพุทธมามกะ รู้แจ้งในหลักธรรมลึกซึ้ง ตั้งพระทัยแน่วแน่จะบำเพ็ญภาวนา เพื่อหลุดพ้นสังสารวัฏ ออกบวชวันที่ 19 เดือน 9 พระเจ้าเมี่ยวจวงไม่เห็นด้วย จะบังคับให้เลือกราชบุตรเขย เพื่อจะได้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อไป แต่เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านไม่สนพระทัยเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ อันจอมปลอม แม้จะถูกพระบิดาดุด่าอย่างไร องค์หญิงก็ไม่เคยนึกโกรธเคืองแต่อย่างใด
ต่อมาองค์หญิงสามได้ถูกขับไปทำงานหนักในสวนดอกไม้ เช่น หาบน้ำ ปลูกดอกไม้ ทั้งนี้เพื่อทรมานให้เปลี่ยนความตั้งใจ แต่ก็มีเหล่ารุกขเทวดามาช่วยทำแทนให้ทั้งหมด พระบิดาเมื่อเห็นว่าไม่ได้ผล จึงรับสั่งให้หัวหน้าแม่ชี นำองค์หญิงสามไปอยู่ที่วัดนกยูงขาว และให้เอางานของแม่ชีทั้งวัดมอบให้องค์หญิงทำคนเดียว แต่องค์หญิงมีพระทัยเด็ดเดี่ยว ไม่เกี่ยงงานการต่างๆ ก็มีเหล่าเทพารักษ์มาช่วยทำแทนให้อีก พระเจ้าเมี่ยวจวงเข้าพระทัยว่า พวกแม่ชีไม่กล้าเคี่ยวเข็ญใช้งานหนัก ก็ยิ่งทรงกริ้วหนักขึ้น สั่งให้ทหารเผาวัดนกยูงขาวจนวอดเป็นจุณไป พร้อมกับพวกแม่ชีทั้งวัด มีแต่เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านเท่านั้นที่ปลอดภัยรอดชีวิตมาได้    พระเจ้าเมี่ยวจวงทรงทราบดังนั้น จึงรับสั่งให้นำตัวราชธิดาไปประหารชีวิต เทพารักษ์คอยคุ้มครองเจ้าหญิงอยู่ โดยเนรมิตทองทิพย์เป็นเกราะห่อหุ้มตัว คมดาบของนายทหารจึงไม่อาจระคายพระวรกาย ดาบหักถึง 3 ครั้ง 3 ครา พระบิดาทรงกริ้วยิ่งนัก โดยเข้าพระทัยว่านายทหารไม่กล้าประหารจริง จึงให้ประหารนายทหารแทน แล้วรับสั่งให้จับเจ้าหญิงไปแขวนคอ ทว่าผ้าแพรที่แขวนคอก็ขาดสะบั้นลงอีก     ทันใดนั้นปรากฏมีเสือเทวดาตัวหนึ่งได้นำเจ้าหญิงขึ้นพาดหลังแล้วเผ่นหนีไปที่เขาเซียงซัน ต่อมา เทพไท่ไป๋ได้แปลงร่างเป็นชายชรามาโปรดเจ้าหญิง ชี้แนะเคล็ดวิธีการบำเพ็ญเพียรเครื่องดับทุกข์ จนสามารถบรรลุมรรคผลสำเร็จธรรม วันที่ 19 เดือน 6 ข้างฝ่ายพระบิดาเข้าพระทัยว่า เจ้าหญิงถูกเสือคาบไปกินเสียแล้ว จึงไม่ได้ติดใจตามราวีอีก
ต่อมาไม่นานบาปกรรมที่พระองค์ก่อไว้ส่งผล เกิดป่วยด้วยโรคร้ายแรง ไม่มียารักษาให้หายได้ เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านได้ทรงทราบด้วยญาณวิถีว่า พระบิดากำลังประสบเคราะห์กรรมอย่างหนัก ด้วยความกตัญญูกตเวทีเป็นเลิศ มิได้ถือโทษโกรธการกระทำพระบิดาแม้แต่น้อย ทรงได้สละดวงตาและแขนสองข้าง เพื่อรักษาพระบิดาจนหายจากโรคร้าย ว่ากันว่า ภายหลังสำเร็จอรหันต์ ได้ดวงตาและพระกรคืน เคยแสดงปาฏิหาริย์เป็นปางกวนอิมพันมือ องค์หญิงเมี่ยวซ่านนั้น ตอนแรกเป็นชาวพุทธ ตอนหลังเทพไท่ไป๋ได้มาโปรด ชี้แนะหนทางดับทุกข์ เหตุนี้พระโพธิสัตว์กวนอิมจึงเป็นเทพทั้งฝ่ายพุทธและฝ่ายเต๋าในเวลาเดียวกัน
สำหรับรูปประติมากรรมพระแม่กวนอิมในลักษณะของเพศหญิงที่เป็นที่นับถือกันในปัจจุบันนั้น แท้จริงแล้ว เมื่อครั้งศาสนาพุทธแรกเผยแผ่จากอินเดียสู่จีนนั้น รูปลักษณ์ของพระอวโลกิเตศวร(พระโพธิสัตว์กวนอิม)ก็เป็นภาพของพระโพธิสัตว์เพศชายเช่นเดียวกับในอินเดีย สันนิษฐานว่า คติเกี่ยวกับรูปเคารพพระโพธิสัตว์กวนอิม น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยสามก๊กและราชวงค์จิ้น จนกระทั่งถึงสมัยหนานเป่ยเฉา หลักฐานสำคัญก็คือ รูปวาดจิตรกรรมฝาผนังและรูปปฏิมากรรมแกะสลักพระโพธิสัตว์กวนอิมที่ปรากฏอยู่ในถ้ำม่อเกา (莫高)ที่สร้างขึ้นในช่วงหนานเป่ยเฉานั้น เป็นภาพของพระอวโลกิเตศวร(พระโพธิสัตว์กวนอิม) ที่มีลักษณะแบบเพศชาย มีริมฝีปากหนาและมีหนวดเครา
ส่วนเหตุผลของความเปลี่ยนแปลงจากบุคลิกลักษณะของพระอวโลกิเตศวร(พระโพธิสัตว์กวนอิม)ที่เดิมเป็นเพศชายจนแปรเปลี่ยนเป็นเพศหญิงนั้น นักประติมานวิทยา สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากเหตุผล 2 ประการ
ประการแรก นั้นคือ พระโพธิสัตว์กวนอิมเป็นผู้ทรงโปรดสัตว์โลก ผู้ตกทุกข์ได้ยาก และในสมัยโบราณนั้น ผู้หญิงมักได้รับการกดขี่ข่มเหงและทุกข์ทรมานมากกว่าเพศชาย จึงเกิดภาพลักษณ์ในด้านที่เป็นเพศหญิง เพื่อช่วยเหลือสตรีให้หลุดพ้นจากบ่วงกรรม
ประการที่สอง นั้นคือ ผู้หญิงเป็นเพศที่มีความอ่อนโยนและมีจิตใจที่ดีงามกว่าเพศชาย โดยเฉพาะความรักของผู้เป็นมารดา อันเป็นสัญลักษณ์ของความเมตตาการุณย์ต่อบุตร
ดังนั้นจึงเชื่อว่านี้คือเหตุเปลี่ยนแปลงของภาพแห่งลักษณะพระโพธิสัตว์กวนอิมที่แปรเปลี่ยนรูปลักษณ์เป็นเพศหญิงในที่สุด
ในด้านศิลปกรรมจีน ได้สะท้อนสัญลักษณ์ของพระโพธิสัตว์กวนอิมที่แสดงถึงความเมตตากรุณา อาทิ ภาพพระแม่กวนอิมยืนประทับบนหลังมังกรกลางมหาสมุทร , ภาพพระแม่กวนอิมพรมน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากกิ่งหลิวในแจกัน , ภาพพระแม่กวนอิมประทับนั่งกลางป่าไผ่ , ภาพพระแม่กวนอิมปางประธานบุตร และภาพพระแม่กวนอิมพันมือ เป็นต้น   แต่ไม่ว่าจะแสดงภาพแห่งพระแม่กวนอิมในลักษณะใด พระองค์ก็ยังทรงเป็นสัญลักษณ์ของพระโพธิสัตว์ผู้เปี่ยมด้วยเมตตากรุณา ที่ประทับอยู่กลางใจของผู้ศรัทธาจนถึงปัจจุบัน

  นอกจากนี้ชาวจีนยังเชื่อว่า เจ้าแม่กวนอิมท่านเป็นตัวละครรองในวรรณกรรมเรื่อง ไซอิ่ว  เพราะเมื่อคราวที่ซุนหงอคงมีท่าผิดปกติ พระแม่กวนอิมนำเชือกประหลาดและก็มาบอกให้พระถังซำจั๋งว่า จงรับรัดเกล้านี้ไป ถ้าหากสวมศรีษะให้ซุนหงอคงไปแล้ว   ให้พูดว่า รัดเกล้า รอบเดียว  ซุนหงอคงก็จะปวดหัวเหมือนมีสิ่งใดมัดหัว
ส่วนอีกความเชื่อหนึ่งคือ ท่านสถิตย์ ณ เกาะผู่โถวซาน (聖汕頭島) และปฏิบัติธรรม ณ ที่นั่น (ปัจจุบันมีเทวรูปองค์ใหญ่เป็นพระแม่กวนอิมปางทรงธรรมจักรในพระหัตถ์ซ้าย ส่วนพระหัตถ์ขวาทำพระกิริยาห้าม มองไปที่ทะเลใต้ เรียกว่า หนานไห่กวนอิม (南海關)) และมีอัครสาวกยืนขนาบกัน นั่นก็คือ พระสุธนกุมาร และธิดาพญามังกร
นอกจากนี้ ชาวจีนมีเคล็ดลับสำหรับผู้ที่รู้จักพระแม่กวนอิม ได้บอกว่า ผู้ใดนับถือพระแม่กวนอิม ก็จะไม่สามารถรับประทานเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อว้วและควาย และเชื่อกันว่า ถ้าผู้ใดกัดกินเนื้อวัวควายเข้าไปแม้แต่คำเดียว อาจหมายถึงกินพระเจ้าเมี่ยวจวง



วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประเพณีความเชื่อเรื่องการเชิดสิงโตของชาวเวียดนาม


               ประเพณีความเชื่อเรื่องการเชิดสิงโตของชาวเวียดนาม




           ชาวเวียดนามในประเทศไทยไม่มีประเพณีการเชิดสิงโตหรือการเชิดมังกร  แต่ยังมีการเล่นอยู่ในประเทศเวียเวียดนาม  ทั้งสิงโตและมังกร     โดยมักถูกนำมาใช้แสดงในช่วง
เทศกาลวันขึ้นปีใหม่ (เต็ด) ,    เทศกาลไหว้พระจันทร์,   เทศกาลแห่เจ้าในบางจังหวัดของเวียดนาม,
การเชิดสิงโตในงานแต่งงาน,    งาน
ขึ้นบ้านใหม่  เป็นต้น
             ชาวเวียดนามมีประวัติความเป็นมาของประเพณีการเชิดสิงโต  สืบเนคนเวียดนาม โบราณมีความเชื่อว่าสิงโตเป็นบุตรของมังกร  ซึ่งมีอำนาจและทรงพลังมากที่สุดในบรรดาบุตรทั้งหมด ได้รับมอบหมายจากสวรรค์ในฐานะผู้พิทักษ์ สิงโตจึงถือเป็น สัญลักษณ์ของพลังอำนาจ ความกล้าหาญ และความจงรักภักดี นอกจากนี้ยังเชื่อว่ากันว่าสิงโตเป็นสัตว์เทพเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ แม้เพียงเสียงคำรามก็สามารถปัดเป่าวิญญาณและสิ่งชั่วร้ายได้ ด้วยเหตุนี้เองชาวเวียดนามจึงนิยมสร้างรูปสลักสิงโตไว้ ตรงหน้าพระราชวังและวัด ศาลเจ้า ตามหน้าบ้านหรือสถานที่ต่างๆ เพื่อเป็นองครักษ์ผู้พิทักษ์คอยคุ้มครองป้องกันภยันตราย ภูตผีปีศาจและสิ่งชั่วร้ายต่างๆ โดยจะสร้างสิงโตไว้ตรงหน้าประตู ทางเข้าเป็นคู่ สิงโตตัวผู้จะอยู่ทางด้านขวามือ(ของผู้ที่เดินเข้า)และสิงโตตัวเมียจะอยู่ ทางด้านซ้าย                                                      การแสดงเชิดสืงโตของชาวเวียดนามมีลักษณะดังภาพวีดีทัศน์ดังนี้

                                                                                                                                   






วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การเชิดสิงโตแบบหวงซา




                  การเชิดสิงโตแบบหวงซา

       การเชิดสิงโตแบบหวงซา  นี้มีลักษณะโดดเด่น  คือ มีการผสมผสานวิชากังฟูกับการแสดงท่าทางของสิงโต  ไม่เพียงแค่แสดงการเชิดในระดับบนพื้นดินเท่านั้น แต่แสดงการปีนป่ายขึ้นที่สูงด้วย  ซี่งนักแสดงจะแสดงท่วงท่าต่างๆ  บนโต๊ะสี่เหลี่ยม  มีท่าตีลังกา  ยืนขาเดี่ยว และต่อตัว เป็นต้น การแสดงต่อโต๊ะเป็นรายการที่ค่อนข้างยาก โดยจะซ้อนโต๊ะกว่า 40 ตัวขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อปีนโต๊ะไปจนถึงตัวที่ 9 ซึ่งอยู่สูงที่สุด   จะมีความสูงห่างจากพื้นดินประมาณ 10 เมตร นักแสดงจะโชว์ฝีมือขั้นสุดยอด นั่นก็คือ จะถอดถุงเท้าและรองเท้า ใช้เท้าเปล่าเหยียบขาโต๊ะทั้ง 4 ที่หงายอยู่บนชั้นสูงสุด



 


     การเชิดสิงโตแบบหวงซา  เป็นทั้งการเล่นกังฟู  และร่ายรำ เป็นกิจกรรมการเคารพเทพเจ้าและให้ความบันเทิงกับชาวบ้าน ใช้ท่วงท่าแบบอ่อนโยนและแข็งแกร่ง   มีเอกลักษณ์พิเศษของท้องถิ่น  ศิลปินตระเวนแสดงไปตามหมู่บ้านต่างๆ ตั้งแต่วันส่งท้ายปีเก่าจนถึงวันที่ 2 เดือนที่ 2 ตามจันทรคติ โดยได้สะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาดีของประชาชน ชาวบ้านหวังว่าการเชิดสิงโตจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล   มีการเก็บเกี่ยวอุดมสมบูรณ์ มีเงินทองไหลมาเทมา สมาชิกครอบครัวมีความอยู่เย็นเป็นสุข จึงหวังว่าการเชิดสิงโตจะช่วยขจัดเภทภัยและขอพรให้สมปรารถนาในช่วงเทศกาลตรุษจีน




 

ประเภทของหัวสิงโต

ประเภทของหัวสิงโต
สิงโตของชาวจีนสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ สิงโตเหนือ สิงโตใต้ ดังนี้ 1. สิงโตเหนือ เป็นการนำเอาสุนัขพันธุ์ปักกิ่ง มาใช้เป็นต้นแบบในการสร้างหุ่นสิงโตให้มีขนยาว ขาเล็ก ร่างเล็กซึ่งผู้เชิดสิงโตต้องสวมชุดสิงโตที่มีขนยาวปกคลุม การเชิดสิงโตเหนืออาจเชิดคนเดียว หรือสองคนก็ได้ สิงโตเหนือ เรียกว่า สิงโตปักกิ่ง 2. สิงโตใต้ นิยมนำมาเชิดกันอย่างแพร่หลาย ในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) กว่างซี และฝูเจี้ยน(ฮกเกี้ยน) แต่ต่อมาภายหลังชาวจีนที่เคยอาศัยอยู่ทางใต้ของประเทศจีน รวมทั้งชาวจีนที่เคยฝึกหัดการเชิดสิงโต โดยเฉพาะ ผู้ที่เคยอยู่อาศัยภายในมณฑลกว่างตงหรือกวางตุ้งได้อพยพไปอยู่ยังภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก สิงโตกวางตุ้งจึงได้รับ การรู้จักกันอย่างแพร่หลาย แม้แต่ในประเทศไทยเองก็ได้รับรูปแบบการเชิดแบบกวางตุ้ง มาใช้เชิดอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้การเชิดสิงโตยังสามารถแบ่งออกตามรูปร่างลักษณะของหัวสิงโตที่กลุ่มชาวจีนแต่ละกลุ่มเป็น ผู้ประดิษฐ์ขึ้น ได้แก่ 1. สิงโตของชาวจีนแคระ หัวสิงโตมีลักษณะคล้ายกับบุ้งกี๋ ใบหน้าจะทาสีให้เป็นลายเขียว เหลือง แดง มีฟันซี่โต ๆ 2. สิงโตกวางตุ้ง หัวสิงโตแบบนี้อาจจะประดับประดากระจกที่หน้า มีการเขียนสีสันลวดลายลงบนหัว มีนอ ที่หน้าผาก และมีเคราที่คาง 3. สิงโตไหหลำ กลุ่มชาวจีนไหหลำได้มีการสร้างรูปหัวเสือขึ้นมาใช้แทนรูปหัวสิงโต ทำให้รูปหัวสิงโต ของกลุ่มชาวจีนไหหลำมีลักษณะแตกต่างจากชาวจีนกลุ่มอื่น ๆ อย่างเด่นชัด 4. สิงโตแต้จิ๋วหรือสิงโตปักกิ่ง หรือสิงโตกวางเจา มีลักษณะคล้ายกับหมาจู มีขนปุกปุย ตาโต มีโบว์ ที่ศรีษะ และติดกระดิ่งไว้ที่ใต้คาง เวลาที่ทำการแสดงอาจจะทำการแสดงสองตัวขึ้นไป

สีของหัวสิงโต

สีของหัวสิงโต
ชาวจีนใช้สีของหัวสิงโตเป็นเครื่องหมายแทนสัญลักษณ์ของบุคคล ทั้งยังแสดงถึงคุณลักษณะต่าง ๆ ดังนี้ 1.หัวสิงโตสีเขียว เรียกว่า “ตั่วกง” หมายถึง เล่าปี่ ตัวละครเอกในเรื่องสามก๊ก ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์แทน ความมีอำนาจหยิ่งในศักดิ์ศรี มีข้าทาสบริวารมาก 2. หัวสิงโตสีแดง เรียกว่า “ยี่กง” หมายถึง กวนอู ตัวละครในเรื่องสามก๊ก เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทนความ ซื่อสัตย์ กล้าหาญ โชคลาภ นักต่อสู้ 3. หัวสิงโตสีดำ เรียกว่า "ซากง" หมายถึง เตียวหุย ตัวละครสามก๊ก เป็นสัญลักษณ์แทนความหนักแน่น ความยุติธรรม การเอาชนะอุปสรรคนานานัปการที่ผ่านเข้ามาในชีวิต 4. หัวสิงโตสีเหลือง เรียกว่า “สี่กง” หมายถึง จูล่ง ตัวละครเรื่องสามก๊ก บางตำราก็แทนกวนเพ้ง เป็น สัญลักษณ์แทนผู้มีอำนาจ ยศศักดิ์

ประวัติความเป็นมาของการฝึกหัดเชิดสิงโต

ประวัติความเป็นมาของการฝึกหัดเชิดสิงโต
ในอดีตประเทศจีนมีการจัดตั้งคณะสิงโตขึ้น โดยคณะใหญ่ ๆ จะมีผู้เข้าร่วมอยู่ในคณะระหว่าง 70 - 80 คน โดยต้องใช้เวลาในการ ฝึกฝนการเชิดสิงโตไม่น้อยกว่า 3 ปี 6 เดือน จึงจะออกแสดงได้ ทั้งในคณะสิงโตก็ไม่ได้ ฝึกฝนการเชิดสิงโตแต่เพียงอย่างเดียว ยังมีการหัดมวยจีน กระบอง มีดสั้น ทวน ง้าว และอื่น ๆ เวลาออกแสดง ในแต่ละครั้งต้องใช้ลานที่มีความกว้างขวางมาก ๆ เพราะต้องทำการแสดงจับคู่ต่อสู้กัน ซึ่งการแต่งตัวนั้น ก็ยังมี ความแตกต่างกัน ที่สำคัญคณะสิงโตของจีนมีการพันแข้ง ที่เรียกว่า คาเกี๊ยว มัดตั้งแต่ข้อเท้า แล้วยังมีผ้าคาดเอว อีกด้วย ดังนั้นคณะสิงโตของชาวจีนในอดีตก็คือ คณะมวยหรือสำนักมวย ที่เรียกว่า “กุ่งอ๊วง” ซึ่งหัวสิงโตที่นำมาใช้ในการเชิดนั้น มีหัวเป็นสีเขียว คิ้วสีขาว ภาษาจีนเรียกว่า “แชไซแปะไบ๊” สิงโตแบบนี้เมื่อถูกนำไปเล่นในที่ ต่างถิ่นมักถูกเจ้าของถิ่นลองดี โดยการส่งนักมวยจีนหรือนักกระบี่กระบองมาขอซ้อมมือ ซึ่งถ้าเกิดต้องพ่ายแพ้แก่ เจ้าของถิ่น ผู้มาเยือนก็ต้องได้รับความอับอายเขา จนต้องรีบเดินทางกลับสำนักมวยของตน แต่ถ้าหากรักจะเล่นก็ ต้องส่งตัวแทนไปคำนับหัวหน้าคณะมวยเจ้าของถิ่นเสียก่อน จึงจะทำให้สามารถแสดงการเชิดสิงโตได้โดยไม่ต้อง ถูกเจ้าของถิ่นลองดี การเชิดสิงโตนั้นเป็นการเลียนแบบอากัปกิริยาของสัตว์ 2 ชนิด คือ 1. ชาวจีนที่อยู่ในเมืองทางเหนือของแม่น้ำฉางเจีย(แม่น้ำแยงซีเกียง)จะแสดงเลียนแบบอากัปกิริยาของ สุนัข 2. ชาวจีนที่อาศัยอยู่ทางใต้ของแม่น้ำฉางเจีย ได้นำเอากิริยาของแมวมาเป็นต้นแบบ การเชิดสิงโตในยุคแรกใช้ลีลาการร่ายรำเป็นหลัก หรือที่เรียกว่า ระบำสิงโต แต่หลังจากสมัยของราชวงศ์ชิง จึงค่อย ๆ ถูกหลอมรวมเข้ากับหลักวิทยายุทธ์ การเชิดสิงโตให้ดูสง่างดงาม มีชีวิตชีวา ต้องมีพื้นฐานในการเคลื่อนไหวที่แม่นยำ และมั่นคง คนเชิดสิงโตต้องรู้จังหวะการยกเท้า คือ เมื่อยกเท้าข้างหนึ่งขึ้นก็จะเหลือหลักไว้ยืนเพียงเท้าข้างเดียว ในขณะที่อากัปกิริยาของสิงโตหรือราชสีห์ ไม่ว่าจะเป็นการกระโดด กลิ้งเกลือกหรืออื่น ๆ ก็ตาม หากผู้เชิดสิงโต ขาดความแข็งแกร่งของร่างกายส่วนล่าง ก็ย่อมไม่สามารถที่จะเชิดสิงโตให้ดูน่าเกรงขาม ว่องไว ปราดเปรียว ซึ่งท่วงท่าของการย่างเท้าที่ใช้ในการเชิดสิงโต ก็คือหลักของการใช้เท้าในการฝึกการต่อสู้ของจีน หรือ มวยจีนนั่นเอง

กีฬาเชิดสิงโต

กีฬาเชิดสิงโต
กีฬาเชิดสิงโต ถึงแม้จะมีกำเนิดจากประเทศจีน แต่กลับกลายเป็นกลุ่มประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นผู้ริเริ่มให้มีการแข่งขัน พร้อมจัดตั้งสหพันธ์กีฬามังกร สิงโตนานาชาติขึ้นมา เพื่อสร้างกติกาการแข่งขันในระดับนานาชาติ โดยมีแกนนำ คือ ประเทศมาเลเซีย

ประวัติการเล่นกีฬาเชิดสิงโตในประเทศไทย

ประวัติการเล่นกีฬาเชิดสิงโตในประเทศไทย
ในอดีตประเทศไทยเคยมีการจัดการแข่งขันความสามารถการเชิดสิงโตของคณะสิงโต ในรูปแบบลักษณะต่าง ๆ ทั้งนี้มักขึ้นอยู่กับความนิยมของผู้คนในแต่ละท้องถิ่น เช่น การแสดงการต่อตัวโดยให้คนขึ้นไปยืนเหยียบอยู่บนบ่า หรือเหยียบศีรษะต่อกันขึ้นไปเป็นชั้น ๆ ระหว่าง 5 - 9 ชั้น การใช้ไม้กระบอกยาว ๆ (ประมาณ 5 เมตร) เจาะรูทะลุ ทางตอนปลายแล้วเอาไม้สอดเป็นขั้นไว้ สำหรับให้ขึ้นไปยืนต่อตัว แถมบางครั้งยังเอาเด็กเล็ก ๆ ขึ้นไปยืนบนบ่า แล้วแกล้งทำเด็กหล่นลงจากบ่า แต่คว้าขาไว้ทัน การไต่เสาไม้ไผ่ที่ทาด้วยน้ำมันลื่น เพื่อปีนขึ้นไปเอาเงินที่ผูกไว้ที่ ปลายเสา การพุ่งตัวรอดบ่วงไฟ เป็นต้น ปัจจุบันการแข่งขันกีฬาสิงโตของไทย ได้รับเอารูปแบบการแข่งขันกีฬา สิงโตแบบสากลเข้ามาใช้ในการแข่งขัน นั่นคือการเชิดสิงโตอยู่บนพื้น และการกระโดดขึ้นไปเชิดสิงโตอยู่บนเสา ต่างระดับหรือบนแป้นเสาดอกเหมย โดยแสดงการกระโดดที่ต้องใช้ท่าความยากง่ายผสมผสานไปกับจิตนาการของ ผู้เชิดสิงโต ที่ต้องการพยายามบอกเล่าเรื่องราวผ่านทางท่าทางหรืออากัปกิริยาของสิงโตที่แสดงออกมา ซึ่งปัจจุบัน การแข่งขันกีฬาสิงโตแบบสากลนี้ กำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในประเทศไทย และในแต่ละปี ก็มีหลาย หน่วยงานได้จัดให้มีการแข่งขันขึ้นมาหลายรายการ ส่งผลให้คณะสิงโตของไทยมีพัฒนาการจนสามารถเข้าไปร่วม ทำการแข่งขันกีฬาสิงโตในระดับนานาชาติอยู่หลายคณะ

อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับกีฬาเชิดสิงโต

อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับกีฬาเชิดสิงโต
อุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่นกีฬาเชิดสิงโต ได้แก่ กลอง, ฉาบ หรือแฉ, โล้หรือเง๊ง(มีรูปร่างเหมือนฆ้อง แต่แตกต่างกับ ฆ้องตรงที่ไม่มีปุ่มนูนตรงกลาง), หัวสิงโต นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการเชิดสิงโต ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นฉาก ที่ใช้ในการแสดง เปรียบเทียบแทนธรรมชาติต่าง ๆ ปัจจุบันอุปกรณ์แบบนี้มักเรียกกันว่า เสาดอกเหมยหรือโต๊ะ ที่ใช้ทำการแสดง ซึ่งทำจากเหล็กที่มีระดับของความสูงแตกต่างกันไป โดยให้บางส่วนสมมุติแทนภูเขา หุบเหว แม่น้ำ และสะพาน ตามจินตนาการที่ผู้เชิดต้องการแสดงบอกเล่าเรื่องที่ตนใช้ในขณะทำการแสดง อันเป็นวิธีการ สร้างความเข้าใจ ทั้งยังสื่อสารจินตนาการระหว่างผู้เชิดสิงโตกับผู้ชม ให้ได้รับอรรถรสในการเข้าชมการแสดง ตลอดจนบังเกิดความสนุกสนานร่วมไปกับผู้เชิดสิงโต

จำหน่ายอุปกรณ์ที่ใช้ในการเชิกสิงโต มังกรทุกชนิด

จำหน่ายอุปกรณ์ที่ใช้ในการเชิกสิงโต  มังกรทุกชนิด
จำหน่ายอุปกรณ์ที่ใช้ในการเชิดสิงโต มังกรทุกชนิด อาทิ หัวสิงโต หัวมังกร กลอง แฉ เง้ง เสาดอกเหมย ชุดตาแป๊ะ อาซิ้ม ธงจีนนำตณะสิงโต เครื่องดนตรีจีน และอื่น ๆ สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ 0868379952

กติกาการแข่งขันสิงโตนานาชาติ

กติกาการแข่งขันสิงโตนานาชาติ
ทีมสิงโตที่เข้าร่วมแข่งขันต้องประกอบด้วยนักกีฬาที่ลงสนามแข่งขันไม่ต่ำกว่า 6 คน แต่ต้องมีจำนวนไม่เกิน 8 คน และอาจมีผู้รักษาความปลอดภัยในขณะที่ทำการแข่งขัน(ทำการแสดง)จำนวนไม่เกิน 4 คน เวลาที่ใช้ในการทำ การแสดงต้องไม่ต่ำกว่า 10 นาที แต่ต้องไม่เกิน 15 นาที โดยต้องทำการแข่งขันอยู่บนแป้นเสาดอกเหมยต่างระดับ การพิจารณาให้คะแนนจะพิจารณาจากเครื่องแต่งกาย มารยาท อุปกรณ์ การดำเนินเรื่อง รูปร่างสิงโต การประสาน การเคลื่อนไหวของเท้าผู้ที่เชิดสิงโตระหว่างส่วนหัวกับส่วนหาง ความสอดคล้องของมโหรีที่มีต่อลีลาการเชิดสิงโต การแสดงออกซึ่งอากัปกิริยาของสิงโต(กิริยาอาการตกใจ ร่าเริง โกรธ สงสัย หลับใหล และอื่น ๆ)และความสามารถ ในการเล่นท่ายากทางเทคนิค โดยแต่ละท่าที่ทำการแสดงนั้น มีระดับของคะแนนตามความยากง่ายของท่าที่ใช้แสดง หากผู้เชิดสิงโตสามารถแสดงท่าเทคนิคนั้น ๆ ได้อย่างสมบูรณ์ ก็จะได้คะแนนในท่านั้น ๆ ไป แต่หากผู้เชิดสิงโตทำ การแสดงท่าเทคนิคนั้นซ้ำหลายครั้ง ก็จะได้รับคะแนนเพียงครั้งเดียว โดยไม่มีการบวกรวมตามจำนวนครั้งที่ทำไป

การแข่งขันกีฬาเชิดสิงโต

การแข่งขันกีฬาเชิดสิงโต
การแข่งขันกีฬาสิงโตนั้นได้รับการยอมรับกันอย่างแพร่หลายในนานาประเทศมานานแล้ว โดยเฉพาะประเทศ ในกลุ่มที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงแม้กีฬาสิงโตมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีนก็จริง แต่ทว่ากลับ ไม่สามารถเผยแพร่กีฬาสิงโตของตนให้ออกไปได้อย่างกว้างไกล ตรงกันข้ามกับกลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ในแถบเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ กลับมีอิทธิพลต่อการเผยแพร่กีฬาสิงโตเป็นอย่างมาก ทั้งส่งเสริมให้มีการแข่งขันกีฬาเชิดสิงโต วางกฎระเบียบกติกาการแข่งขันกีฬาเชิดสิงโตขึ้น พร้อมจัดให้มีการแข่งขันกีฬาสิงโตขึ้นในหลายระดับ ดังเห็นว่า ในปัจจุบันหลายประเทศได้จัดให้มีการแข่งขันสิงโตนานาชาติขึ้น รวมทั้งประเทศไทยเองก็เคยจัดให้มีการแข่งขัน กีฬาสิงโตระดับนานาชาติหลายครั้ง ที่สำคัญคือ การจัดให้มีการแข่งขันกีฬาสิงโตชิงแชมป์โลกที่มักจัดการแข่งขัน ขึ้นในประเทศมาเลเซีย ซึ่งการแข่งขันที่จัดขึ้นทุกครั้งนั้นได้รับความสนใจจากประชาชนเข้าร่วมชมการแข่งขันเป็น จำนวนมาก แม้ต้องเสียค่าบัตรผ่านประตูเข้าชมการแข่งขันในอัตราที่สูงก็ตาม ซึ่งจากความสนใจของประชาชนใน หลายประเทศ มิใช่แต่เพียงประชาชนที่อาศัยอยู่ภายในประเทศทางแถบเอเชียเท่านั้น แต่ก็ยังได้รับความสนใจจาก ประชาชนในทวีปอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และอื่น ๆ ดังเห็นได้จากการที่ประเทศเหล่านี้ได้ส่งคณะสิงโตของตน เข้าร่วมทำการแข่งขันในระดับนานาชาติอยู่บ่อยครั้ง จึงมีความเป็นไปได้อย่างสูงที่อีกไม่นานการแข่งขันกีฬาสิงโต คงต้องถูกบรรจุเข้าร่วมในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เนื่องจากความสนใจของคนทั่วโลกที่มีต่อกีฬาสิงโตอย่างมาก นั่นเอง

ประวัติการเชิดสิงโตในประเทศไทย

ประวัติการเชิดสิงโตในประเทศไทย
สิงโตที่เชิดอยู่ในประเทศไทยปัจจุบันแม้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีนก็ตาม แต่ทว่าที่แพร่หลายเข้ามาอยู่ในประเทศไทยทุกวันนี้ มิได้เป็นการนำเข้ามาของชาวจีน แต่คนไทยรับเอารูปแบบการเชิดสิงโตผ่านมาทางญวณ หรือ เวียดนาม โดยญวนได้รับแบบอย่างมาจากจีนอีกทอดหนึ่ง ก่อนนำเข้ามาแพร่หลายในประเทศไทย ดังที่ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในพระราชพงศาวดาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า องเชียงสือ (เจ้าญวน) ได้ฝึกหัดคนญวนให้เล่นสิงห์โตล่อแก้ว และสิงห์โตคาบแก้ว เพื่อใช้ในการเล่นถวายตัวแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬา-โลก(รัชกาลที่ 1) ซึ่งพระองค์ได้ทรงโปรดให้มีการเล่นถวายหน้าพลับพลาที่ประทับ ในเวลาที่มีมหรสพแบบแผน ทำให้การเล่นสิงโตมีการเล่นเป็นประเพณีสืบจนถึงรัชกาลต่อ ๆ มา ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นได้ว่า การเชิดสิงโตในประเทศไทยมีมานานนับร้อยปี สิงโตที่คนไทยรู้จัก และได้เห็นการเชิดสืบมาถึงปัจจุบันนั้น เป็นสิงโตทางตอนใต้ ของประเทศจีน อันเป็นศิลปวัฒนธรรมของชาวจีนที่ฝึกฝนศิลปะกังฟู การเชิดสิงโตของประเทศไทยอาจแตกต่าง กับประเทศจีน ตรงที่คนจีนจะเชิดสิงโตเฉพาะในช่วงตรุษจีนเป็นสำคัญ ขณะที่คนไทยกลับนำสิงโตมาใช้เชิดกัน เกือบทุกเทศกาล และวันมงคลต่าง ๆ อาทิ วันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา วันแต่งงาน วันเกิด งานฉลองต่าง ๆ เป็นต้น